จีนและไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 นับเป็นการเปิดฉากใหม่ของการแลกเปลี่ยนมิตรภาพระหว่างสองประเทศ ตลอด 45 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าทั้งสองประเทศจะเติบโตไปในทิศทางใด หรือสถานการณ์โลกจะผันแปรอย่างไร ความสัมพันธ์จีน-ไทยก็ยังคงเจริญรุดหน้าไปอย่างมั่นคงตามเส้นทางที่บรรพชนรุ่นก่อนได้กรุยทางไว้ กลายเป็นต้นแบบของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศ
เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย TAP Magazine ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ หยางซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โดยอุปทูตหยางซินได้ฉายภาพให้เห็นถึงผลสำเร็จทางความร่วมมืออย่างรอบด้านระหว่างจีน-ไทย ทั้งความเชื่อมั่นทางการเมืองระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ การแลกเปลี่ยนด้านสังคมวัฒนธรรมที่นับวันยิ่งแน่นแฟ้น ความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์พัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว และความร่วมมืออย่างรอบด้านที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จมากมาย
สถาปนาความสัมพันธ์การทูต 45 ปี ความร่วมมือรอบด้านก่อให้เกิดผลสำเร็จนานัปการ
ด้านการเมือง ทั้งสองประเทศเคารพและเชื่อมั่นไว้วางใจซึ่งกันและกัน ความเชื่อมั่นเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันลึกซึ้งยิ่งขึ้น “ผู้นำทั้งสองประเทศได้พบปะหารือกันในหลายวาระโอกาส แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ กำหนดทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์ร่วมกัน” อุปทูตหยางซิน กล่าว
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ส่งสาส์นแสดงความยินดีแด่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งยังได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ ‘รัฐมิตราภรณ์’ แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วยตนเอง นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกและการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง เสริมแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทยยุคใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ผู้นำรัฐบาลและรัฐสภาไทยได้มาเยือนจีนแล้วหลายครั้ง และได้หารือแลกเปลี่ยนเชิงลึกกับผู้นำของจีน
อุปทูตหยางซิน กล่าวว่า “ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีความสลับซับซ้อน ปัจจัยความไม่แน่นอนมากมาย จีน-ไทยต่างมีความเข้าใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี เคารพผลประโยชน์สำคัญและหลักการสำคัญของกันและกัน จับมือร่วมกันเผชิญหน้ากับความท้าทายและอุปสรรค ยืนหยัดการแลกเปลี่ยนและการประสานงานที่ดีระหว่างกันในกิจการระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค”
ด้านเศรษฐกิจ ต่างฝ่ายต่างเป็นคู่ค้าที่สำคัญของกันและกัน ความร่วมมือประสบผลสำเร็จในเชิงรูปธรรมมากมาย สถิติการค้าทวิภาคีเติบโตต่อเนื่องทุกปี ในปี 2562 มูลค่าการค้าไทย-จีนทะลุ 9.17 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเริ่มต้นของการสถาปนาความสัมพันธ์ถึง 3,700 เท่า จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยติดต่อกันเป็นเวลา 7 ปีแล้ว ส่วนไทยก็เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ในอาเซียนของจีน ในปี 2562 จีนได้กลายเป็นแหล่งที่มาของการลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของไทย ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการนำเข้าส่งออกไทย-จีนเพิ่มขึ้น 8.1% เติบโตสวนกระแส COVID-19


หยางซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
“ทั้งสองฝ่ายจับมือร่วมกันสร้าง ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ การก่อสร้างโครงการรถไฟจีน-ไทย คืบหน้าไปด้วยดี บริษัทจีนกว่าร้อยรายได้เข้าไปตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน จ.ระยองแล้ว โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่บริษัท China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) เข้าร่วมประมูล ได้ลงนามสัญญาโครงการเสร็จสิ้นเรียบร้อย บรรดาผู้นำบริษัทเทคโนโลยีชั้นสูงของจีน อาทิ HUAWEI, Alibaba, JD.com ต่างร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบริษัทชั้นนำของไทย เพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย โครงข่ายโทรคมนาคม 5G รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอื่นๆของประเทศไทย สร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับความร่วมมือเศรษฐกิจจีน-ไทย”
ด้านสังคมวัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายยืนหยัดเปิดกว้าง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ปี 2562 มีนักศึกษาจีนมาศึกษาเล่าเรียนในไทยมากกว่า 36,000 คน มีนักศึกษาไทยกว่า 28,000 คนไปศึกษาต่อในประเทศจีน มีครูอาสาสมัครชาวจีนกว่า 1,500 คนสอนภาษาจีนในไทย นักท่องเที่ยวจีนครองตำแหน่งนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดของไทยมาหลายปีต่อเนื่อง ยอดนักท่องเที่ยวจีนมาไทยทะลุหลักสิบล้านคน 2 ปีติดต่อกัน ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม สาธารณสุขและศิลปวัฒนธรรมที่นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนามีความร่วมมือแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งเมืองหนานจิง ละครโทรทัศน์ของไทยมีชื่อเสียงมากในจีน ขณะที่วรรณกรรมออนไลน์และละครโทรทัศน์ของจีนก็ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นชาวไทยเช่นเดียวกัน มิตรภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างผู้คนทั้งสองประเทศนับวันยิ่งลึกซึ้งมากขึ้น


บันทึกภาพประวัติศาสตร์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทย เข้าพบ ประธานเหมา เจ๋อตุง ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลจีน เมื่อปี พ.ศ.2518
จีนไทยพี่น้องกัน จับมือร่วมกันต่อสู้โรคระบาด
ท่ามกลางความท้าทายจากวิกฤต COVID-19 ทั้งสองประเทศได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ลงเรือลำเดียวกัน ยามที่ฝ่ายหนึ่งกำลังเผชิญกับความยากลำบาก อีกฝ่ายต่างรีบเร่งยื่นมือให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลและบริจาคเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้แก่กันอย่างไม่เห็นแก่ตัว การกระทำเหล่านี้บ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงมิตรภาพความจริงใจระหว่างจีน-ไทย ดังคำกล่าวที่ว่า ‘จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน’ ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ภายใต้แนวคิด ‘โชคชะตาร่วมกันสำหรับมวลมนุษยชาติ’
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชสาส์นแสดงความห่วงใยไปยังประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ทรงชื่นชมจีนที่สามารถรับมือกับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ได้เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยและรัฐสภาไทยส่งสารแสดงความห่วงใยไปยังผู้นำของจีน นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้ทำคลิปวิดีโอเพื่อส่งกำลังใจให้กับประเทศจีนและทั่วโลกต่อสู้กับโรคระบาด ทุกภาคส่วนของไทยต่างร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่งเวชภัณฑ์ทางการแพทย์จำนวนมากมาช่วยเหลือจีนในเวลาอันรวดเร็ว
“จีนได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยมาโดยตลอด แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์โรคระบาด สื่อสารมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างทันท่วงที หารือแผนการวินิจฉัยรักษา และมีความร่วมมือพัฒนาวัคซีนร่วมกับไทย จีนพร้อมจะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือไทยอย่างเต็มที่” อุปทูตหยางซิน กล่าว รัฐบาลจีนได้มอบเวชภัณฑ์ทางการแพทย์แก่รัฐบาลไทยแล้ว 2 รอบ ประกอบด้วยหน้ากากอนามัย หน้ากาก N-95 ชุดป้องกัน และชุดตรวจเชื้อไวรัส ผู้ประกอบการ หน่วยงานพันธมิตรและประชาชนชาวจีนได้อาสาออกมาช่วยเหลือสนับสนุนไทยต่อสู้กับโรคระบาด สถานทูตจีนประจำประเทศไทยได้ตั้ง ‘ตู้ปันสุข’ ร่วมแบ่งปันสิ่งของจำเป็นให้กับประชาชนคนไทยที่พักอยู่ใกล้กับสถานทูต “การรวมพลังต่อสู้กับโรคระบาดของจีนและไทยสะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพที่แสนพิเศษ ดังคำกล่าวที่ว่า ‘พี่น้องที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ย่อมมีพลังอย่างน่าอัศจรรย์’ ความสัมพันธ์จีน-ไทยที่ผ่านความท้าทายครั้งใหญ่ของโรคระบาด จะยิ่งใกล้ชิดสนิทสนม แน่นแฟ้นมั่นคงยิ่งขึ้น” อุปทูตหยางซิน กล่าว
ความสัมพันธ์จีน-ไทยยุคใหม่ หลังโลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่


อุปทูตหยางซิน กล่าวว่า ปัจจุบันระเบียบโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบร้อยปี ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ได้กลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดต่อทั้งความมั่นคงทางการเมือง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการสาธารณสุขทั่วโลก กระตุ้นให้ลัทธิชาตินิยม ลัทธิโดดเดี่ยวนิยม ลัทธิปกป้องทางการค้า และลัทธิประชานิยมทั่วโลกฟื้นตัว ก่อให้เกิดการลุกฮือของแนวคิด ‘การทวนกระแสโลกาภิวัตน์’ และการตัดขาดทางอุตสาหกรรม ‘ความแตกแยก’ ที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดได้บั่นทอนเจตนารมณ์ความร่วมมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของนานาประเทศ ทั้งยังเป็นอุปสรรคอย่างร้ายแรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
“จีนและไทยต่างเป็นประเทศที่สนับสนุนและยึดมั่นปฏิบัติตามแนวคิดพหุภาคี ทั้งยังเป็นประเทศผู้เข้าร่วม ผลักดันและผู้ได้รับผลประโยชน์ที่สำคัญจากโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ผ่านร้อนผ่านหนาวมา 45 ปี จีนไทยสองประเทศยึดมั่นในหลักการเคารพซึ่งกันและกัน เสมอภาคเป็นธรรม ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ จนกลายเป็นต้นแบบมิติใหม่ของการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
ประการแรก ส่งเสริมการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ระหว่างกัน เน้นไปที่การแลกเปลี่ยนระดับสูง ขยายการติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศในทุกระดับ ใช้ประโยชน์จากกลไกเจรจาที่มีอยู่ เพิ่มพูนความเชื่อมั่น กระชับความร่วมมือระหว่างกัน ผลักดันความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ส่งเสริมการบูรณาการเชิงลึกของยุทธศาสตร์การพัฒนาของสองประเทศทั้งในระดับนโยบายและทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เอื้อต่อการขยายความร่วมมือในด้านอื่นๆต่อไป


ประการที่สอง ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคระบาดไปพร้อมกับเร่งหารือมาตรการที่เป็นรูปธรรมสำหรับการกลับมาเริ่มต้นการผลิตอีกครั้ง ฟื้นฟูสานต่อและขยายความร่วมมือเชิงปฏิบัติด้านเศรษฐกิจการค้าร่วมกัน ส่งเสริมการสร้าง ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ จับมือร่วมกันสร้าง ‘เส้นทางสายไหมสุขภาพ’ (Health Silk Road) และ ‘เส้นทางสายไหมดิจิทัล’ (Digital Silk Road) เร่งการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รับประโยชน์โดยเร็ว ชูข้อได้เปรียบด้านการส่งเสริมกันทางเศรษฐกิจ เร่งแสวงหาโอกาสความร่วมมือใหม่ๆ จับตาทิศทางอุตสาหกรรมดิจิทัลและความเคลื่อนไหวใหม่ เพื่อยกระดับความร่วมมือจีน-ไทย
ประการที่สาม ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านสังคมและวัฒนธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน สร้างให้เกิดเครือข่ายการแลกเปลี่ยนด้านสังคมวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง รอบด้านและครอบคลุมในทุกมิติ สนับสนุนการพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรม สื่อสารมวลชน และคลังข้อมูลของสองประเทศ ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนกันระหว่างเยาวชน เร่งดึงศักยภาพความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ พร้อมขยายความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม การสาธารณสุขและอื่นๆ ส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันเทคนิคความรู้ การฝึกฝนอบรม แลกเปลี่ยนบุคลากร รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ขจัดและบรรเทาความยากจนระหว่างกัน


‘ฟ้าสูงแล้วแต่นกจะบิน ทะเลกว้างใหญ่แล้วแต่ปลาจะว่ายวน’ เนื่องในวาระสำคัญครบรอบ 45 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย จีนมีความเชื่อมั่นและมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับไทยอย่างจริงใจ พร้อมอาศัยโอกาสวาระสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้ ในการปฏิบัติตามข้อตกลงที่สำคัญของผู้นำทั้งสองประเทศ ผลักดันความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านจีน-ไทยไปสู่มิติใหม่ เพื่อให้ผลสำเร็จของความร่วมมือจีน-ไทยเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น