จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ “ไทย-จีน”เติบโตร่วมกัน สู่อนาคตที่เปิดกว้าง

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าได้กลายเป็นองค์ประกอบที่นับวันยิ่งมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษเนื่องในโอกาส 45 ปีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนว่า ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนมีพลวัตสูงครอบคลุมมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการค้า

จีนถือเป็นประเทศคู่ค้าลำดับ 1 ของไทย โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2553 – 2562 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.3 โดยเฉลี่ยต่อปี ซึ่งทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายการค้าร่วมกันไว้ที่ 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2564

ในปี 2562 จีนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทย ครองสัดส่วนการค้าร้อยละ 16.5 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 14 ของจีน ครองสัดส่วนการค้าราวร้อยละ 2.0 ส่วนในปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) การค้ารวมระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 25,199.00 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 1.48

“ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีน มี 2-3 รูปแบบ กลไกแรกคือ JC คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจไทย-จีน), กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC), ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) ใน 3 กรอบความร่วมมือสำคัญเราทำงานร่วมกัน และอีกกรอบความร่วมมือที่สำคัญคือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการค้าและเปิดตลาดการค้าระหว่างกันในระดับภูมิภาค”

ลงนาม RCEP ปลายปี 63

ขยายโอกาสการค้าการลงทุนไทย-จีน

รองนายกฯจุรินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ไทยและจีนยังมีความร่วมมือระดับพหุภาคีผ่านความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกรอบความสัมพันธ์ทางการค้าที่จะช่วยเพิ่มพูนการค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ค. เพื่อให้ทันลงนามในเดือนพ.ย.ปีนี้

การลงนามความตกลง RCEP จะช่วยเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก ซึ่งรวมถึงจีนที่เป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย รวมทั้งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของไทยและอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะยาว และช่วยสร้างโอกาสจากการเปิดตลาดเพิ่มเติมจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) โดยสินค้าของไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับความตกลง ACFTA อาทิ เครื่องรับโทรทัศน์ อุปกรณ์ยานยนต์ ยาง ผักและผลไม้

ในขณะเดียวกัน RCEP จะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในจีนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนิเมชัน และเปิดรับการลงทุนคุณภาพที่ไทยยังมีความต้องการเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในประเทศ และต่อยอดเป้าหมายการส่งเสริมอุตสาหกรรม S-curve เช่น การวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อม โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ การศึกษา การซ่อมบำรุง รักษาชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น

ทั้งนี้ RCEP ถือเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10ประเทศ, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ครอบคลุมประชากรรวมกันเกือบ 3,600 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 48.1 ของประชากรโลก โดยข้อมูลในปี 2562 ประเทศสมาชิก RCEP 16 ประเทศ มีมูลค่า GDP กว่า 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 32.7 ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 29.5 ของมูลค่าการค้าโลก

เดินหน้านโยบายสร้างสัมพันธ์การค้ารายมณฑล

ด้านนโยบายการผลักดันการค้าระหว่างไทย-จีน รองนายกฯจุรินทร์ กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าในรูปแบบเฉพาะเจาะจงระหว่างไทยกับมณฑลต่างๆของจีน โดยวาง Positioning การค้าที่สอดคล้องกับนโยบายในการพัฒนามณฑลของจีน และส่งเสริมการค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของมณฑลนั้นๆ เช่น เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ที่รัฐบาลจีนกำหนดให้เป็นประตูสู่อาเซียน ไทยจึงกำหนดให้กว่างซีเป็นประตูนำเข้าผลไม้และเป็นศูนย์กระจายผลไม้เข้าสู่จีนที่สำคัญ ส่วนมณฑลยูนนานมีบทบาทเป็นประตูการค้าสู่ภาคตะวันตกของจีน

ขณะที่ไหหลำจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ ประกอบกับคนไทยจำนวนมากมีเชื้อสายมาจากไหหลำ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างหาแนวทางความร่วมมือหรือจัดทำข้อตกลงพิเศษที่จะทำให้ไทยและไหหลำสามารถขยายความสัมพันธ์ได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือระดับคณะทำงานรายมณฑล กระชับความสัมพันธ์ผ่านการเดินทางไปมาหาสู่ เหย้าเยือนระหว่างไทยกับมณฑลต่างๆ ในทุกระดับ รวมถึงเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในมณฑลต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางและขยายโอกาสทางการค้าระหว่างไทย-จีน

รุกการค้าออนไลน์ ฝ่าวิกฤต COVID-19

สำหรับมุมมองต่อการรับมือความท้าทายการค้าไทย-จีน ในยุค COVID-19 รองนายกฯจุรินทร์ กล่าวว่า วิกฤตการแพร่ระบาด COVID-19 ได้ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการค้าออฟไลน์มีปัญหาอุปสรรคทำได้ยากขึ้น ทำให้การค้าออนไลน์กลายเป็น New Normal และช่องทางสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน

ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือด้านการค้าออนไลน์กับ Alibaba โดยเปิดร้านค้าภายใต้ชื่อ“TOPTHAI” บนแพลตฟอร์มยอดนิยมของจีนอย่าง Tmall โดยมีกลุ่มสินค้าเป้าหมาย อาทิ สินค้าอาหาร (ผลไม้, ผลไม้แปรรูป, อาหารกระป๋อง, Snack, เครื่องดื่ม) สินค้าของใช้ในบ้าน (หมอนยางพารา, ของประดับตกแต่งบ้าน) และสินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า, กระเป๋า, รองเท้า)

“ล่าสุด ในช่วงเทศกาล 6.18 ที่ผ่านมา ผมได้ร่วมกิจกรรมไลฟ์สดนำเสนอและส่งเสริมการขายผลไม้และอาหารไทยในตลาดจีน ผ่าน Tmall เป็นครั้งแรก ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ในช่วงเวลา 15-16 นาทีของการไลฟ์สด มีคนติดตามเข้าชมมากถึง 16 ล้านวิว ต้องขอบคุณแพลตฟอร์ม Tmall ที่ทำให้ชาวจีนได้รับรู้เรื่องราวของสินค้าไทย และได้รับทราบว่ามีช่องทางซื้อผลไม้ไทยเกรดพรีเมียมผ่าน Tmall จึงช่วยทำให้ขายสินค้าไทยได้เพิ่มขึ้นและสะดวกคล่องตัวยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ส่งเสริมการขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (Online In-store Promotion) เพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อสินค้าไทยในรูปแบบแคมเปญระยะสั้น ผ่านแพลตฟอร์มเครือข่ายพันธมิตรในประเทศจีน อาทิ ITO Yokado , Tmall , JD , Lotus , Hema และ Taobao พร้อมทั้งจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ (Online Business Matching) กับผู้นำเข้าในประเทศจีนในกลุ่มสินค้าผลไม้ เช่น ลำไย โดยมีแผนขยายไปยังสินค้าอื่นๆต่อไปในอนาคต

45ปีความสัมพันธ์ไทย-จีนแน่นแฟ้น

รองนายกฯ จุรินทร์ กล่าวว่า หากย้อนมองความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยกับจีนตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา จีนถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสำคัญมากสำหรับไทย และได้รักษาความสัมพันธ์อันดีมาโดยต่อเนื่องในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับพระราชวงศ์ ซึ่งถือว่ามีความใกล้ชิดในระดับประมุขของทั้งสองประเทศ

ประชาชนชาวไทยต่างรู้สึกปลาบปลื้มปีติอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนเป็นเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติกับประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ ไทย-จีนยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงของรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในระดับประชาชน
“สุดท้ายนี้ ผมหวังว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีนจะเจริญก้าวหน้าต่อไปตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเมือง เศรษฐกิจสังคม และระดับพรรคการเมือง ความสัมพันธ์ไทย-จีนในทุกระดับทุกมิติจะเจริญงอกงามเติบโตร่วมกันสู่อนาคตที่เปิดกว้างต่อไป” รองนายกฯจุรินทร์ กล่าว


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *