ปัจจุบัน ภารกิจอันทรงเกียรติในการขับเคลื่อนการดำเนินงานหอการค้าไทย-จีน ได้ส่งต่อมายังคณะกรรมการชุดใหม่ ภายใต้การนำของ ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน สมัยที่ 27
ประธานณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า หอการค้าไทย-จีนเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ 110 ปีที่แล้ว โดยกลุ่มพ่อค้าชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย จนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวจากเสื่อผืนหมอนใบ ในระยะแรก นอกจากทำหน้าที่ส่งเสริมการพาณิชย์ระหว่างไทย-จีนแล้ว หอการค้าไทย-จีนยังมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือชาวจีนอพยพ ตลอดจนทำหน้าที่เสมือนสถานทูตและสถานกงสุลของประเทศจีนในการออกและรับรองเอกสารต่างๆ
ต่อมาภายหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ในปี 2518 เป็นต้นมา หอการค้าไทย-จีน ซึ่งเป็นศูนย์รวมของชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวจีนโพ้นทะเล และสมาคมธุรกิจการค้าไทย-จีนต่างๆกว่า 50 สมาคม ยังคงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมมิตรภาพไทย-จีน เสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอันดีระหว่างสองประเทศให้แนบแน่นยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ คณะกรรมการหอการค้าไทย-จีนชุดปัจจุบัน ได้กำหนดให้หอการค้าไทย-จีน “เป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไทย-จีน และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆให้แก่นักธุรกิจจีน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs จีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย” และสานต่อภารกิจส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนในทุกมิติ
“ในฐานะประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน สมัยที่ 27 ผมพร้อมที่จะยกระดับความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้น 4 ภารกิจหลัก ได้แก่
1. การดึงดูดการลงทุนจากจีน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs จีน ซึ่งมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูงมาลงทุนในประเทศไทย 2.การขยายการส่งออกไปยังตลาดจีน 3.สนับสนุนการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทยกับเส้นทางสายไหมใหม่ (One Belt, One Road หรือ Belt and Road Initiative-BRI) ของจีน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้เจริญเติบโตยิ่งขึ้น และ 4.ส่งเสริมความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศไทย-จีน เพื่อยกระดับการพัฒนาอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย”
COVID-19 กระชับสัมพันธ์ไทยจีนใกล้ชิด


2019年11月4日,泰国中华总商会热烈欢迎李克强总理莅泰访问。
‘หอการค้าไทย-จีน’ ให้การต้อนรับ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน
เนื่องในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2562
นอกจากนี้ ยังได้ผลักดัน“โครงการนำร่องเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทย-จีน หลังวิกฤต COVID-19” โดยร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการการท่องเที่ยว เพื่อนำเสนอมาตรการรองรับการกลับมาเปิดประเทศ ภายใต้การจัดทำข้อตกลงทวิภาคี Travel Bubble ระหว่างไทย-จีน เพื่อให้กลุ่มนักธุรกิจทั้งสองประเทศสามารถเดินทางทำธุรกิจระหว่างกัน รวมถึงการเดินทางเข้ามาของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา และกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆที่เดินทางมากับบริษัททัวร์จากประเทศจีน ภายหลังจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย
“เดิมเรามีแผนงานต่างๆที่วางไว้จำนวนมากเพื่อส่งเสริมและยกระดับการค้าการลงทุนไทย-จีน แม้ในช่วงวิกฤต COVID-19 จะทำให้กิจกรรมต่างๆต้องสะดุดไปบ้าง แต่ทุกแผนงานยังคงต้องเดินหน้าต่อและเตรียมรุกหนักมากขึ้นหลัง COVID-19 คลี่คลาย เริ่มจากการนำทัพผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน China International Import Expo (CIIE) ในเดือนพ.ย.นี้ที่นครเซี่ยงไฮ้ซึ่งจัดต่อเนื่องทุกปีเป็นครั้งที่ 3 พร้อมทั้งเดินหน้าสานต่อเป้าหมายนำคณะเดินทางไปชักชวนการลงทุนจากจีนให้ครอบคลุมทั้ง 30 มณฑล ในช่วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง”
ทั้งนี้ จากแรงกระตุ้นของวิกฤต COVID-19 และความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ส่งผลให้จีนหันมาค้าขายและกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งของจีนเองและของภูมิภาคเอเชียโดยรวม
หลัง COVID-19 จึงเป็นโอกาสและความท้าทายในการเชิญนักลงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC โดยอาศัยการเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเป็นประตูสู่อาเซียน ในการนี้ หอการค้าไทย-จีน จึงได้จัดตั้งทีมงานคนรุ่นใหม่เพื่อเป็นคณะทำงานในการต้อนรับคณะนักลงทุนจีนที่เดินทางมาเยือนไทย และคณะทำงานในการนำคณะนักธุรกิจไทยเดินทางไปเยือนจีน เพื่อรองรับการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากบริษัทด้านไฮเทคจากจีนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว หอการค้าไทย-จีนยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของกลุ่มธุรกิจ SMEs ของจีน ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับจีน เช่น การนำเข้าและส่งออกสินค้ากับประเทศจีน ซึ่งหอการค้าไทย-จีน สามารถเข้าไปส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มธุรกิจเหล่านี้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยเครือข่ายของหอการค้าไทย-จีน และกว่า 50 สมาคมการค้าซึ่งมีสมาชิกหลายพันราย และมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือกับนักลงทุนจีน
ร่วมสร้างเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง…เติบโตไปด้วยกัน
ในด้านการเมือง ไทยกับจีนดำเนินความสัมพันธ์บนพื้นฐานของหลักการเคารพซึ่งกันและกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจและการมีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่แทรกแซงกิจการภายใน ทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมอย่างแนบแน่น ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ พรมแดน หรือน่านน้ำระหว่างกัน ทำให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น
ในด้านความร่วมมือเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นหัวใจของความสัมพันธ์ไทย-จีน ยังมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 11 ของจีน โดยในกลุ่มสมาชิกอาเซียน จีนค้าขายกับประเทศไทย เป็นอันดับ 3 (รองจากเวียดนาม และมาเลเซีย)


林楚钦主席代表泰国中华总商会向中国政府捐赠抗疫善款,由中国驻泰王国大使馆杨欣代办接领。
ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน เป็นตัวแทนหอการค้าไทย-จีนมอบเงินช่วยเหลือรัฐบาลจีนต่อสู้กับ COVID-19 โดยมีอุปทูตหยาง ซิน เป็นผู้รับมอบ
ขณะที่สถิติล่าสุดในเดือนพ.ค.จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกจากไทยไปจีนมีมูลค่า 2,909.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวที่ 15.3% ส่งผลให้ในรอบ 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกจากไทยไปจีนมีมูลค่ารวม 12,221.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวที่ 4.7% และมีสัดส่วน 12.5% ของการส่งออกรวมของประเทศ สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ
ในด้านการลงทุน จีนมีมูลค่าการลงทุนสะสมในไทยถึงปลายปี 2562 ประมาณ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยวิสาหกิจจีนสนใจลงทุนในภาคธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ภาคอุตสาหกรรมใหม่ โลจิสติกส์ และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการลงทุนสะสมของไทยในจีนจนถึงเดือนก.ย. 2562 มีมูลค่า 4,344.48 ล้านเหรียญสหรัฐ (เฉพาะระหว่างเดือนม.ค.-ก.ย. 2562 การลงทุนไทยในจีนมีมูลค่า 74.48 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ขณะที่สถิติในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 มีนักลงทุนจีนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จำนวน 82 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 15,069 ล้านบาท นับว่าสูงสุดในบรรดาการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งในแง่โครงการและเงินลงทุน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นแหล่งวัตถุดิบ ชิ้นส่วนสินค้าอุตสาหกรรม และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานของจีน เช่น ผลิตภัณฑ์ยางและยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ รถยนต์ และอุปกรณ์ส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง


จุดแข็งที่สำคัญอีกประการ คือ คนไทยและจีน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมายาวนาน จึงมีเครือข่ายเชื่อมโยงโดยเฉพาะด้านธุรกิจการค้าและการลงทุน อีกทั้งรัฐบาลทั้งสองประเทศยังไม่มีข้อพิพาทระหว่างกัน”
ในมุมมองของประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ผันแปร และความท้าทายของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID-19 ไทยและจีนจึงควรมองโอกาสผสานจุดแข็งระหว่างกันเพื่อร่วมสร้างเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเปิดกว้าง
“ประเทศจีนมีจุดแข็งความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี มีการนำระบบดิจิทัล ระบบออโตเมชั่น และ โรโบติกส์ มาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิต และธุรกิจบริการ โดยเฉพาะบริการด้านการแพทย์ บริการค้าปลีกค้าส่ง จึงเป็นโอกาสที่เราจะนำจุดแข็งเหล่านี้เข้ามาเสริมศักยภาพประเทศไทยซึ่งประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านและขาดแคลนบุคลากรด้านดิจิทัล
ผมคิดว่าการทำธุรกิจยุคนี้ เราควรเปิดกว้าง อย่าไปกลัว อย่าปิดกั้น แต่ต้องมองจีนให้เป็นโอกาสแล้วหันมาจับมือร่วมกันเพื่อเติบโตก้าวไปด้วยกันแบบ win-win” ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าว