พล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ไทย-จีน “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ผลักดันสองประเทศสู่ความเจริญร่วมกัน

“มองย้อนความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ถือเป็น 45 ปีที่น่าชื่นชม แม้สองประเทศจะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านระบบการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม แต่ไทยและจีนต่างมีความเข้าใจอันดีต่อกัน ภายใต้หลักการ“แสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง”หรือ “ฉิวถง ฉุนอี้”-求同存异” พล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน กล่าวถึงมุมมองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ต้องถือเป็นความกล้าหาญของผู้นำรัฐบาลไทยในยุคนั้นที่กล้าปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ และนับเป็นความใจกว้างของรัฐบาลจีนที่ทำให้ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ความสัมพันธ์ไทย-จีน กลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง โดยขยับจากความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก มาสู่การกระชับความสัมพันธ์กับจีนและโลกตะวันออก

“ 45 ปีที่ผ่านมา ไทยและจีนต่างมีความเห็นอกเห็นใจกัน ท่ามกลางความแตกต่างของสองประเทศ แต่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือและการอำนวยประโยชน์กันและกัน ที่สำคัญคือยังได้มีการเพิ่มระดับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ

ทิศทางต่อไปข้างหน้า ผมเชื่อว่าเราจะยังคงมีความร่วมมืออันดีระหว่างกันต่อไป ภายใต้ทิศทางความสัมพันธ์ทางการทูตในลักษณะที่เรียกว่า New Look Diplomacy เปลี่ยนจากมุมมองการป้องกันร่วม (Collective Defence)ที่ต้องคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน ไปสู่ความมั่นคงโดยการร่วมมือ (Cooperative Security) ร่วมมือกันในจุดที่ร่วมได้ เป็น New Look Diplomacy หรือความสัมพันธ์ทางการทูตใหม่ในเชิงป้องกันสงครามและความขัดแย้ง แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ซึ่งเอกลักษณ์ของไทยคือการเป็น“สนลู่ลม”ที่รักษาสมดุลความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่างๆไม่ว่ากับใครก็ตาม

ความท้าทายหลัง COVID-19

สำหรับประเด็นความท้าทายหลังสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากถามว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วในเชิงภูมิรัฐศาสตร์แบบไหน ผมคิดว่ากลุ่มประเทศที่ให้ความร่วมมือกับจีน ในอนาคตจะยังคงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนต่อไป และอาจจะมีความร่วมมือกับจีนในเรื่องการเมืองระดับนานาชาติเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่ระเบียบโลกใหม่จะก้าวไปสู่การให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางมนุษย์ (Human Security) และเรื่องสภาวะแวดล้อมในการอยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกมองไปทิศทางเดียวกัน

ส่วนประเด็นการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ หลัง COVID-19 ผมอยากใช้คำว่า โลกาภิวัตน์ยังคงไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่จะมีการร่วมมือกันอีกแบบหนึ่ง บางเรื่องอาจจะมีการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ และบางเรื่องอาจจะยังต้องร่วมกันอยู่

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค ผมคิดว่าจะมีความสัมพันธ์กันที่แน่นแฟ้นมากขึ้น จากการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกันในช่วงที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันในบางเรื่องที่เกิดขึ้น อาทิ State Quarantine และสามารถที่จะใช้จุดนี้มาเป็นจุดร่วมกันในการขยายความร่วมมือกันต่อไป

หลัง COVID-19 บทบาทของอาเซียนจะมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งไทยควรผสานพลังกับอาเซียนอย่างเป็นปึกแผ่น เพื่อประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค

ในด้านผลกระทบต่อการลงทุนของจีนในไทยและการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในช่วงที่ผ่านมา บทบาทการลงทุนของจีนเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ผมคิดว่าการขับเคลื่อน EEC โดยการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจีนจะยังคงดำเนินต่อไป สถานการณ์ COVID-19 อาจส่งผลให้การลงทุนชะลอตัวลงไปบ้างเล็กน้อยในระยะสั้น แต่จีนยังคงให้ความสนใจลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง การเชื่อมโยงด้านภูมิศาสตร์ให้เป็นประโยชน์จึงเป็นเรื่องที่ไทยต้องมองหาช่องทางเพื่อขยายโอกาสให้มากขึ้น

ในด้านการเติบโตร่วมกันไปพร้อมกับจีน ผมอยากให้มองไปที่ 2 ด้าน คือ Economic Growth การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ กับ Growth Together เติบโตสู่การพัฒนาไปร่วมกัน

ในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจยังมีโอกาสที่ไทยกับจีนจะขยายความร่วมมือกันในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในด้านแพลตฟอร์มความร่วมมือใหม่ๆทางด้านอุตสาหกรรม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งปีนี้ผู้นำจีนและอาเซียนได้ร่วมกันกำหนดให้ปี 2020 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างจีน-อาเซียน ทำให้มีโอกาสจะขยายความร่วมมือกันในด้านนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสในด้านเกษตรกรรม ซึ่งไทยควรมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่จีนผลิตเองไม่ได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เช่น ข้าวหอมมะลิ ทุเรียน ขณะที่ในด้านของการเติบโตร่วมกันต่อไป ต้องมองถึงการร่วมกันคิด ร่วมกันสร้าง ร่วมกันแบ่งปันทั้งด้านความรู้ และด้านทรัพยากรมนุษย์

สำหรับข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) ซึ่งจีนต้องการผลักดันการสร้างประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมกัน (community of common destiny)ในเรื่องนี้ ผมคิดว่าไทยเองอาจจะต้องมีท่าทีในเชิงรุกด้วยเช่นกันในการกำหนดประเด็นความร่วมมือใหม่ๆว่า การจะใช้ชะตากรรมร่วมกันให้เป็นประโยชน์จะต้องทำอย่างไร เช่น การเป็นพันธมิตรในแง่ความมั่นคง ซึ่งไม่ได้มีเพียงแต่เรื่องของการทหารและการป้องกันประเทศ แต่ยังมีมิติความมั่นคงทั้งในด้านอาหาร ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่สามารถนำมาเป็นแกนกลางของความร่วมมือ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาร่วมกัน ดังเช่นแนวคิดหนึ่งของจีนที่บอกว่า แทนที่จะตีเหล็กให้เป็นดาบ ให้เอาเหล็กไปตีเป็นคันไถ “Turn Sword into Plough” 化干戈为玉帛(huà gāngē wéi yùbó) หมายถึงนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาสร้างกำลังการผลิตขึ้นมา

ตลอดระยะเวลา 45 ปีที่ผ่านมา ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและมีการแลกเปลี่ยนกันในทุกระดับ ตั้งแต่ความสัมพันธ์ระดับสูงในระดับราชวงศ์ ระดับรัฐบาล ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคส่วนต่างๆ และภาคประชาชน ซึ่งในด้านความสัมพันธ์ในระดับนักวิชาการ ไทยควรอาศัยประโยชน์และขยายความร่วมมือกับจีนซึ่งมีคลังสมองและนักวิชาการเก่งๆให้มากขึ้น เพื่อวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม

ในมุมมองของพล.อ.สุรสิทธิ์ โอกาสการพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทย-จีน สามารถเชื่อมโยงกับประเด็นความร่วมมือ 5 ด้านตามยุทธศาสตร์ BRI ที่จีนได้ประกาศไว้ ได้แก่ ความเชื่อมโยงด้านนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนา ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมโยงด้านการค้า ความเชื่อมโยงด้านการเงิน และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน

สิ่งสำคัญคือเราจะอยู่ที่ใดในบทบาทการพัฒนาของจีนที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในโลกนี้ ซึ่งต้องมีกลไกที่มองอย่างรอบด้าน คำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่มีความจริงใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความมีเกียรติศักดิ์ศรี ความเท่าเทียมกัน และการเคารพในความแตกต่าง ซึ่ง 45 ปีที่ผ่านมาของความสัมพันธ์ทางการทูต ประเทศทั้งสองก็ได้พัฒนามาในแนวทางนี้ จึงทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอยู่ในระดับที่ดีมาโดยตลอด

แม้จะมีความแตกต่างในเชิงโครงสร้างการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่ด้วยการ“แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง”และความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทำให้ไทยและจีนก้าวผ่านช่วงเวลาต่างๆที่ท้าทาย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงพลวัตของโลกจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน และพร้อมที่จะผลักดันความร่วมมือสองประเทศสู่ความเจริญก้าวหน้าร่วมกันต่อไปในอนาคต


จับโอกาสที่สำคัญจากนโยบายของจีน

ในด้านนโยบายของจีนกับโอกาสและความท้าทายของไทย หากวิเคราะห์จากการประชุมสองสภาในปีนี้ และการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนล่าสุดครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2560 มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

• จีนยังคงมุ่งเน้นการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจังและเด็ดขาด แม้จะเป็นเรื่องนโยบายภายใน แต่ก็ต้องการความร่วมมือกับต่างประเทศ และถือเป็นกรณีศึกษาที่ไทยสามารถเรียนรู้และเลือกนำมาปรับใช้

• ในด้านข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) เป็นนโยบายที่จีนดำเนินมาแล้วและจะเดินหน้าต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องของการรวมกลุ่มประเทศเพื่อผลักดันโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง ภายใต้หลักการร่วมกันปรึกษาหารือ ร่วมกันสร้างสรรค์ และแบ่งปัน จึงถือเป็นความท้าทายของไทยในการจัดตั้งทีมปรึกษาหารือระหว่างกันให้มากขึ้น รวมถึงการจัดตั้งคลังสมอง หรือ Think Tank เพื่อนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์ของไทยที่เหมาะสม

• ในการประชุมสองสภาปีนี้ จีนได้งดการตั้งเป้าหมายตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ซึ่งนัยหนึ่งสะท้อนถึงแนวคิดการพัฒนาประเทศที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของโลกตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับตัวเลข GDP โดยจีนหันมาให้ความสำคัญกับการมุ่งขจัดความยากจน การเพิ่มอำนาจกำลังซื้อ (Purchasing Power Parity:PPP) เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงทางความร่วมมือระหว่างประเทศในกรอบใหม่ผ่าน BRI รวมถึงการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) หรือแม้แต่การเปิดเสรีในลักษณะการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจใหม่ๆอย่างเช่นความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

• จีนมีนโยบายปฏิรูปการศึกษาพร้อมทั้งเชื่อมโยงความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับโลก เพื่อก้าวสู่การเป็นฮับด้านการศึกษานานาชาติ (International Education Hub) พร้อมส่งออกด้านการศึกษาของจีนสู่ต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการปรับตัวของสถาบันการศึกษาของไทยว่าจะใช้โอกาสนี้ในการยกระดับพัฒนา รวมถึงจับมือร่วมเติบโตไปกับจีนได้อย่างไร?

• จีนมีนโยบายให้ความสำคัญกับระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นอกจากนี้ จีนยังถือเป็นผู้นำด้านการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือด้านแพทย์และสาธารณสุขในระดับโลก จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกัน โดยอาศัยจุดแข็งของระบบสุขภาพของไทยซึ่งได้รับการจัดอันดับในระดับนานาชาติให้เป็นอันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับ 6 ของโลกในด้านสุขภาพและการจัดการโรคระบาดที่ดีที่สุด

• จีนมีนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวที่ให้ความสำคัญกับรูปแบบการพัฒนา Green Development ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การบริโภค ซึ่งถือเป็นแนวทางให้กับประเทศต่างๆ รวมถึงไทยได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติ

• จีนตั้งเป้าหมายเป็นดินแดนแห่งนวัตกรรม (Innovation) ความสร้างสรรค์ และให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น HUAWEI ซึ่งมีจำนวนนักวิจัยมากถึง 8 หมื่นคนกระจายอยู่ทั่วโลก แม้ไทยจะยังไม่สามารถก้าวสู่การพัฒนาเป็นประเทศผู้คิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีได้ในเร็ววัน แต่สามารถวางตัวเป็นประเทศผู้ใช้นวัตกรรม (Technology User) หรือแม้แต่การเป็น ready made เดินตามพระราชวิเทโศบายของรัชกาลที่ 5 ดึงเอาคนเก่ง ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในเมืองไทย

• หลักการจีนเดียว และ“หนึ่งประเทศ สองระบบ”สำหรับการปกครองมาเก๊าและฮ่องกง เป็นประเด็นที่อ่อนไหว ซึ่งไทยได้ให้การยึดมั่นในหลักการจีนเดียวมาโดยตลอด การออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงเป็นกิจการภายในของจีนที่ไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *