นานาทัศนะ : จีนกับ ‘กม.ความมั่นคง’ ในฮ่องกง

1 ก.ค. 2020 เป็นวันครบรอบ 23 ปี อังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงกลับคืนสู่มาตุภูมิ ขณะเดียวกันยังเป็นวันที่กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกงเริ่มมีผลบังคับใช้ หลังผ่านความเห็นชอบจากสภาประชาชนแห่งชาติจีนเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา

กม.ฉบับใหม่ดังกล่าวกลายเป็นประเด็นถกเถียงและสั่นสะเทือนไม่เพียงแค่ชาวฮ่องกง แต่ยังขยายไปสู่ประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงความกังวลถึงทิศทางต่อไปในอนาคตฮ่องกง

มาดูกันว่าบรรดาผู้นำทางความคิด อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนักวิชาการของไทยมีมุมมองต่อเรื่องนี้กันอย่างไร?

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การค้าโลก (WTO) และอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเศรษฐกิจหลายสมัย กล่าวว่า หากวิเคราะห์ในมุมมองภูมิรัฐศาสตร์ ด้วยขนาดภูมิศาสตร์กว้างใหญ่ของจีนที่มีความหลากหลายในแต่ละมณฑล เขตปกครองตนเอง รวมถึงเขตบริหารพิเศษฮ่องกงที่อยู่ภายใต้ความดูแลของจีน การรักษาความเป็นเอกภาพของประเทศไว้ให้ได้จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับจีน

ที่สำคัญคือทำอย่างไรถึงจะดูแลให้ประชากร 1.4 พันล้านคนสามารถอยู่รอดได้อย่างพอเพียง และสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมที่มีความสงบสุข มีเสรีภาพ แต่ก็คำนึงถึงเสรีภาพของส่วนรวมด้วย เสรีภาพส่วนตัวเป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าเสรีภาพส่วนรวมสำคัญเหนืออื่นใด

“จีนเป็นประเทศที่มีความหลากหลายมาก หากขาดความเป็นเอกภาพ ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขาดความเข้าใจที่ตรงกัน จะทำให้ยากที่จะปกครองดูแล เรื่องความมั่นคงของจีนเป็นสิ่งที่จีนจะต้องตัดสินเอง และเป็นเรื่องภายในของจีนที่จีนย่อมรู้ดีกว่าใคร เป็นการยากที่คนนอกจะไปพูดแทนจีน”

เศรษฐกิจเสรีของฮ่องกงจะได้รับผลกระทบอย่างไร? หลังการออกกม.ความมั่นคง ในมุมมองของดร.ศุภชัย เชื่อว่า ความเป็นเศรษฐกิจเสรีของฮ่องกงจะยังคงเหมือนเดิม เพราะจีนคงไม่ทำให้ตลาดตรงนี้เสียความเชื่อมั่น เมื่อไหร่ที่จีนและฮ่องกงมีเสถียรภาพ สามารถอยู่ร่วมกันได้ เศรษฐกิจเสรีของฮ่องกงจะเดินหน้าต่อไปโดยที่จีนก็ได้ประโยชน์จากฮ่องกง ฮ่องกงก็ได้ประโยชน์จากจีน

ถึงแม้เศรษฐกิจฮ่องกงอาจจะลดบทบาทลงจากเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของจีนในวันนี้ แต่จีนก็ยังคงต้องฟูมฟักฮ่องกงต่อไป เพราะถือว่าเป็นหน้าต่างที่ทุกคนต้องการเห็นจีนเปิดสู่โลกภายนอก นอกจากนี้ ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจที่เปิดเสรีมากขึ้น ยังทำให้ฮ่องกงขยายไปสู่การเชื่อมโยงกับเมืองหลักอื่นๆในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุกของจีน ภายใต้ยุทธศาสตร์ Greater Bay Area กลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่จีนเริ่มเปิดเสรีมากขึ้น เชื่อมโยงกับ Belt and Road

ส่วนที่มีการคาดการณ์กันว่าจะมีการย้ายฐานการลงทุนของต่างชาติจากกรณีการออกกม.ความมั่นคงฮ่องกง หากดูตัวเลขไตรมาสสองปีนี้ที่หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจจะทรุด แต่กลับตรงกันข้าม อีกทั้งยังมีการย้ายการลงทุนจากต่างประเทศเข้าจีนและฮ่องกงด้วย

ส่วนกรณีที่มีการย้ายฐานการลงทุนจากจีนหรือฮ่องกงเข้ามาในอาเซียน ตรงนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนทาง Supply Chain ที่จีนพยายามกระจายการลงทุนอยู่แล้ว เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเศรษฐกิจจีนกับอาเซียน ไม่ใช่ปัญหาจากนโยบายการออกกม.ความมั่นคงในฮ่องกง

ดร.ศุภชัย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา เราเห็นกระบวนการประท้วงในฮ่องกงที่ดูรุนแรงเพราะผู้คนกลัวว่าจีนจะใช้กม.ความมั่นคงเข้าไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่หากดูจากวิธีการที่จีนทำทุกอย่างด้วยความระมัดระวังอย่างที่ผ่านมา ผมไม่คิดว่าจีนจะเข้าไปทำอะไรที่รุนแรงแบบนั้นที่จะทำให้ฮ่องกงต้องขยับถอยหลัง สูญเสียความเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสวนทางกับแนวนโยบายเดินหน้าเปิดกว้างเศรษฐกิจจีนกับเศรษฐกิจโลก

“ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงินและเศรษฐกิจการค้าที่นักธุรกิจไทย รวมถึงสถาบันการเงินต่างๆเข้าไปทำธุรกิจด้วยมานานแล้ว ดังนั้น คงไม่ใช่ว่าบทบาทของฮ่องกงจู่ๆจะหายไปเลยในทันที หากจีนสามารถใช้การออกกม.ความมั่นคงเพื่อสร้างเสถียรภาพและเอกภาพให้เกิดขึ้นได้ การค้าการลงทุนก็ยังคงเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง และจะส่งผลทำให้อาเซียน และภูมิภาคเอเชียมีความมั่นคงด้วย” ดร.ศุภชัย วิเคราะห์

ด้าน กร ทัพพะรังสี นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายสมัย ให้ความเห็นว่า ต้องยอมรับความจริงว่า ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนมานับตั้งแต่รัฐบาลอังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีนในวันที่ 1 ก.ค.1997 กิจการในฮ่องกงจึงเป็นกิจการภายในของจีนอย่างมิต้องสงสัย ไม่ว่าประเทศใดล้วนไม่ควรเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น

“ จุดยืนของรัฐบาลไทยที่ยึดมั่นมาโดยตลอด คือ ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และผมก็เชื่อว่าทั้งคนไทยและรัฐบาลไทยเคารพในอำนาจอธิปไตยของจีน และเห็นตรงกันว่าฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน ซึ่งจีนได้ประกาศหลักการหนึ่งประเทศสองระบบไว้ตั้งแต่แรก 23 ปีมาแล้ว จึงน่าคิดว่าแล้วเหตุใดถึงเพิ่งจะมามีปัญหากันในวันนี้” กร ตั้งข้อสังเกต พร้อมให้ความเห็นส่วนตัวที่เชื่อว่า จุดตั้งต้นที่ทำให้ต้องมีกม.มั่นคงฉบับนี้ออกมา ไม่ได้มาจากปักกิ่ง แต่มีมูลเหตุมาจากปัญหาการชุมนุมเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในฮ่องกงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลจีนจำเป็นต้องใช้การออกกม.ความมั่นคงเพื่อจัดการปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น

“เศรษฐกิจคือหัวใจของฮ่องกง การที่ชาวฮ่องกงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็เพราะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก จึงน่าจะมองด้านนี้เป็นหลัก และการที่ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนย่อมเป็นผลดีต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของฮ่องกง เพราะทั่วโลกต่างรู้ดีว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดของโลกในเวลานี้ก็คือจีน” กร ทัพพะรังสี นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกม.ความมั่นคงฉบับใหม่ของฮ่องกงว่า กม.ลักษณะนี้มีอยู่แทบทุกประเทศ เป็นกม.ที่ออกมารองรับเรื่องที่จะเป็นความผิดทางอาญา เช่น การแบ่งแยกดินแดน การล้มล้างรัฐบาล การใช้วิธีการรุนแรง การคุกคามกิจกรรมต่างๆของประชาชน การก่อการร้าย การแทรกแซงจากต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศที่มีอธิปไตยก็มีกฎหมายความมั่นคงอย่างนี้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การที่คนฮ่องกงทั่วไปเป็นกังวลกับเรื่องนี้ เนื่องจากไม่คุ้นเคยกับกม.แบบนี้ในยุคที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ รวมถึงมีความกังวลว่า กม.นี้อาจนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีในเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และต้องขึ้นศาลจีน ความกังวลเหล่านี้จึงต้องอธิบายกัน ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลจีนมาอย่างต่อเนื่อง จึงนำประเด็นการออกกม.ฉบับนี้มาเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นขึ้น

ทั้งนี้ การแสดงจุดยืนของประเทศไทยต่อการออกกม.ความมั่นคงในฮ่องกง รศ.ดร.ปณิธาน ยืนยันว่า ไทยมีจุดยืนจีนเดียวมาโดยตลอด โดยไทยไม่ได้มีจุดยืนลงไปลึกว่าแม้มีจีนเดียวอาจจะสนับสนุนสองระบบหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของจีน และการออกกม.นี้หลายประเทศก็กระทำกัน

รศ.ดร.ปณิธาน ให้ความเห็นว่า ไทยไม่มีประเด็นเห็นต่างกับจีน และสนับสนุนจีนเดียวแม้กระทั่งเรื่องไต้หวัน สนับสนุนให้จีนแก้ปัญหาด้วยสันติให้พัฒนาเศรษฐกิจก้าวหน้าและค่อนข้างเป็นบวก เป็นคู่ค้าลำดับหนึ่ง จะไม่มีการแถลงการณ์ให้เกิดความรู้สึกจากจีนว่าไทยไม่เห็นด้วย ฉะนั้น จุดยืนไทยจึงค่อนข้างชัดเจน

ด้านมุมมองต่อเครือข่ายภาคธุรกิจของไทยในฮ่องกง หลังจากมีกม.ความมั่นคงฉบับนี้ จะส่งผลกระทบตามมาอย่างไรบ้างนั้น รศ.ดร.ปณิธาน มองว่า ภาคธุรกิจไทยปรับตัวได้เร็ว ผลกระทบอาจมีไม่มาก อีกอย่างจีนตระหนักเรื่องนี้โดยได้พัฒนาเมืองอื่นๆให้ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ๆ โดยปัจจุบันจีนได้มีนโยบายพัฒนาเกาะไหหลำ และยังมีเมืองที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจอีกหลายศูนย์ที่ไทยไปเชื่อมโยงไว้แล้ว ทำให้ช่วยกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพาฮ่องกง

ปิดท้ายด้วยมุมมอง ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในความเป็นจริงกม.ความมั่นคงมีทุกประเทศ แม้แต่ประเทศไทย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แต่ที่ผ่านมาฮ่องกงเป็นพื้นที่ที่ไม่มีซึ่งความพยายามที่จะออกกม.ความมั่นคงนี้มา จนกระทั่งปี 2014 เกิดปฏิวัติร่มเหลืองที่มีความพยายามจะออกกฎหมายเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ทำให้เกิดการสร้างความรุนแรงกลุ่มผู้ชุมนุม ด้วยความรุนแรงถึงขนาดทำร้ายร่างกาย ทำลายสาธารณูปโภค ทำลายทรัพย์สินของรัฐบาลจนทำให้เกิดมิคสัญญี เพราะฉะนั้นประเทศที่มีสถานการณ์แบบนี้ก็ต้องใช้กม.ความมั่นคงเข้ามาจัดการ

ส่วนมุมมองต่ออนาคตของฮ่องกง ผศ.ดร.ปิติ กล่าวว่า บทบาทการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจฮ่องกงจะค่อยๆลดลง กลายเป็นเพียงแค่เชิงสัญลักษณ์ จะไม่เป็นจุดศูนย์กลางของการเงินอีกต่อไป สิ่งเดียวที่จีนแตกต่างจากฮ่องกงคือ เรื่องของกฎระเบียบการนำเข้าส่งออกเงินที่ในจีนยังมีกระบวนการการควบคุมไหลเข้าไหลออกของเงิน ซึ่งที่ผ่านมา จีนเองได้พยายามพัฒนาในเรื่องที่จะทำให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าการขายและการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน จะพบว่าบทบาทของฮ่องกงซึ่งเคยเป็นจุดเชื่อมโยงทางการค้ามาอย่างยาวนานระหว่างโลกตะวันตกกับจีนจะมีบทบาทที่ลดลง เนื่องจากตอนนี้จีนกำลังลดความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกและหันไปค้าขายกับประเทศที่ตั้งอยู่ในหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางซึ่งเชื่อมโยงจีนกับเอเชีย แอฟริกาและยุโรปเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังมีเส้นทางรถไฟจากจีนไปยุโรปได้โดยทันที จากเดิมที่ฮ่องกงเคยถูกวางยุทธศาสตร์ให้เป็นจุดศูนย์กลาง เป็นประตูของการค้าการลงทุนกับโลกตะวันตกมาตั้งสมัยที่จีนยังปิดประเทศ ปัจจุบันจึงกำลังค่อยๆลดบทบาทลงไป

 

Your email address will not be published. Required fields are marked *