Thailand Medical Hub โอกาสหลังวิกฤต COVID-19 ของไทย

โรงพยาบาลและคลินิกเอกชน 124 แห่ง เริ่มทยอยเปิดรับชาวต่างชาติกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพในประเทศไทยอีกครั้ง

หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 22 ก.ค. เห็นชอบเปิดให้ชาวต่างชาติกลุ่ม Medical and Wellness Program เดินทางเข้ามารักษาตัวในไทย(ที่ไม่ใช่โรค COVID – 19) พร้อมผู้ติดตามไม่เกิน 3 คน ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยต้องเข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวังกักตัว 14 วันในสถานพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine – AHQ) และสามารถเดินทางท่องเที่ยวต่อได้ตามแผนการเดินทางที่กำหนดไว้

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารและขับเคลื่อนนโยบาย Medical Hub ให้สัมภาษณ์กับ TAP Magazine ว่า ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศภายหลังสถานการณ์ COVID-19 โดยคำนึงถึงการสร้างสมดุลระหว่างสาธารณสุขควบคู่กับเศรษฐกิจ ด้วยการจัดทำ Alternative Hospital Quarantine (AHQ)สำหรับผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติรวมผู้ติดตาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบการกักตัวร่วมกับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลให้กับชาวไทยและชาวต่างชาติกลุ่ม Medical and Wellness Program ที่เดินทางเข้ามารับการรักษาในไทย เพื่อสร้างรายได้จากการให้บริการรักษาพยาบาลกลับเข้าสู่ประเทศอีกครั้ง ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัยทางสาธารณสุขที่รัดกุม ทั้งสถานที่กักตัว 14 วัน และการรักษาพยาบาล

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า มูลค่าที่จะเกิดขึ้นจากผู้ป่วยและผู้ติดตามโดยการประมาณการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ใช้บริการด้านการแพทย์ เมื่อมีการเปิดระบบ Alternative Hospital Quarantine (AHQ) คาดว่าจะมีผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางกลับเข้ามารับการรักษาพยาบาล 5% ภายใน 3 เดือนหรือคิดเป็น 160,000 ครั้ง (ทั้งผู้ป่วยเก่าและใหม่)

สามารถสร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศคิดเป็นมูลค่า 18,000 ล้านบาท หรือราว 30-40% เมื่อเทียบจากตัวเลขเดิมในปี 2561 ที่มีการประมาณการรายได้รวมจากการให้บริการรักษาพยาบาลอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท โดยในปี 2561 มีผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางเข้ามาจำนวนครั้ง (Visit)เฉลี่ย 3.2 ล้านครั้ง ซึ่งหากมีผู้ติดตามจำนวน 1 ราย จะมีค่าใช้จ่ายในการเข้าพักห้องเดี่ยวและการอำนวยความสะดวกระหว่างรักษาตนเองคิดเป็น 3,000-8,000 บาทต่อวัน

‘จีน’ประเดิมเข้าไทยกลุ่มแรก

จีน เมียนมา และกัมพูชา เป็นชาวต่างชาติกลุ่มแรกที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศสีเขียวมีความเสี่ยงต่ำที่ได้รับไฟเขียวให้ทยอยเดินทางเข้าประเทศเพื่อรับบริการทางการแพทย์ในไทย อาทิ โรคตา โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ภาวะมีบุตรยาก ศัลยกรรมเสริมความงาม เป็นต้น ซึ่งเป็นบริการที่ไทยมีศักยภาพและต้องการดึงดูดต่างชาติ (Magnet) ตามโครงการ Medical & Wellness Program

ผู้ป่วยที่จะเดินทางเข้ามาต้องมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้ากับสถานพยาบาลในโครงการ Alternative Hospital Quarantine (AHQ) ซึ่งขณะนี้ผ่านการรับรองแล้วจำนวน 124 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาล 98 แห่ง และคลินิก 26 แห่ง โดยมีชาวต่างชาติกลุ่มแรกจำนวน 920 คนที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามารับบริการ ซึ่งเมื่อรวมกับญาติผู้ป่วยแล้วจะมีจำนวนราว 2,000 คน จาก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน เมียนมา กัมพูชา

ผู้ป่วย 1 ราย สามารถมีผู้ติดตาม/ญาติได้ไม่เกิน 3 ราย และต้องมีหนังสือรับรองผลการตรวจ COVID-19 ก่อนเข้าประเทศไม่เกิน 72 ชั่วโมง รวมถึงหลักฐานทางการเงินในการรักษาพยาบาล

เมื่อเดินทางถึงไทยต้องเข้าสู่กระบวนการระบบคัดกรองและเฝ้าระวังตามมาตรการของรัฐ โดยระหว่างที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลจะได้รับการตรวจคัดกรอง COVID-19 จำนวน 3 ครั้ง คือ วันแรก, วันที่ 5-7 และในวันที่ 14 ซึ่งหากผลการตรวจไม่พบเชื้อ จะอนุญาตให้ผู้ป่วยและผู้ติดตามออกจากโรงพยาบาลได้ พร้อมหนังสือรับรองการกักกันตัวครบ 14 วัน จากนั้นจึงจะสามารถไปท่องเที่ยวตามแผนการเดินทางที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ กลุ่มชาวต่างชาติที่เป็นเป้าหมายหลักตามโครงการ Medical & Wellness Program ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ GCC /กลุ่มCLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) รวมถึงจีน บังกลาเทศ มัลดีฟส์ ภูฏาน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และเอเชียใต้

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

Beyond Healthcare, Trust Thailand

นับเป็นเวลาต่อเนื่องกว่า 2 เดือนที่ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ COVID-19 โดยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ

จากที่เคยเป็นประเทศผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 2 ขยับมารั้งท้ายอยู่ที่อันดับ 111 ของโลก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงต่อเนื่องกว่า 18 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ส.ค.63)

ศักยภาพความพร้อมในด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยในการรับมือกับโรคระบาด ได้เป็นที่ประจักษ์สู่ทั่วโลก จนสามารถก้าวขึ้นมาติดอันดับหนึ่งในโลกในด้านการฟื้นตัวจาก COVID-19 จากข้อมูลการจัดอันดับ 184 ประเทศของ“Global COVID-19 Index (GCI)”

นอกจากนี้ เมื่อปลายปี 2562 ประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health security)อันดับที่ 6 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในเอเชีย

“ จากเดิมที่ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของการบริการด้านสุขภาพหลักของเอเชียอยู่แล้ว หลังจากเกิดสถานการณ์ COVID-19 ที่เราสามารถรับมือได้ดี ควบคุมโรคได้ มีผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นการส่งสัญญาณไปทั่วโลกว่า ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นผู้นำในด้านนี้”

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงโอกาสของประเทศไทยหลังวิกฤต COVID-19 โดยมองว่า การจัดทำระบบ Alternative Hospital Quarantine (AHQ) จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับบริการสุขภาพในประเทศมากขึ้น ช่วยสร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศไทย ฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนอีกครั้ง และมีส่วนสำคัญในการเดินหน้านโยบาย Medical Hub หลัง COVID-19

ล่าสุด คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ได้เห็นชอบหลักการผลักดัน“ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงของโลกด้านการดูแลสุขภาพ” โดยใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ รวมถึงสายการบิน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้ตราสัญลักษณ์ Medical Hub ผ่านข้อความสำคัญในการสื่อสารว่า “Beyond Healthcare, Trust Thailand” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการกลับเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาล และพำนักระยะยาวในประเทศไทยอีกครั้ง โดยมุ่งส่งเสริมบริการรักษาพยาบาลและบริการส่งเสริมสุขภาพ (Medical and Wellness)ใน 10 สาขาบริการที่มีศักยภาพสูงและดึงดูดชาวต่างชาติ (Magnet) ได้แก่

1. Regenerative เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึง Anti-Aging และ Medical Spa
2. Alternative medicine การแพทย์ทางเลือก
3. Cardio science การรักษาโรคหัวใจ
4. Musculoskeletal กระดูกและกล้ามเนื้อ
5. Dental Clinic บริการทันตกรรม
6. IVF บริการรักษาผู้มีบุตรยาก
7. การรักษาโรคมะเร็ง
8. การศัลยกรรม/ศัลยกรรมเสริมสวย/ผ่าตัดแปลงเพศ
9. Eye treatment : cataract โรคตาต้อกระจก
10. Precision Medicine การแพทย์แม่นยำ

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ฉบับที่ 3 ระยะ 10 ปี (พ.ศ.2560-2569) ได้กำหนดแนวทางผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพของโลก (Thailand Hub of Wellness and Medical services) ภายในปี 2569 โดยมีองค์ประกอบในการขับเคลื่อน 4 ด้าน ได้แก่

1.ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub)
2.ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub)
3.ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub)
4.ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีโครงการสำคัญในระยะเร่งด่วน (Quick Win) ตามนโยบาย Medical Hub ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นโมเดลต่างๆมากมาย อาทิเช่น การขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยรวม 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม กรณีเดินทางเข้ามารักษาพยาบาล สำหรับกลุ่มประเทศสมาชิก GCC รวมทั้งกลุ่มประเทศ CLMV และสาธารณรัฐประชาชนจีน

การขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long stay)เป็นเวลา 10 ปี, การทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) โดยเริ่มนำร่องในกลุ่มผู้สูงอายุชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาว (Long stay)

การพัฒนาศูนย์ประสานงานกลาง Claim Center ในการจัดเก็บค่ารักษาพยาบาลชาวต่างชาติสำหรับสถานพยาบาลภาครัฐในจังหวัดท่องเที่ยว, การพัฒนา Wellness City แบบครบวงจร เป็นต้น

ในมุมมองของ นพ.ธเรศ ประเทศไทยมีจุดแข็งและปัจจัยความพร้อมในหลายด้านในการเป็น Medical Hub ไม่ว่าจะเป็นการจัดบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล รวมทั้งความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย

ประเทศไทยยังมีจำนวนสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล JCI (Joint Commission International Accreditation) มากที่สุดในอาเซียน ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพเพื่อแข่งขันในตลาด

นอกจากนี้ ยังมีสถานพยาบาลภาครัฐทั่วประเทศที่ผ่านมาตรฐาน HA อีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเว็บไซต์ในต่างประเทศยังจัดอันดับให้โรงพยาบาลเอกชนของไทยติดอันดับ 1 ใน 5 สถานพยาบาลยอดเยี่ยมระดับโลก อีกทั้งค่ารักษาพยาบาลในไทยยังมีความคุ้มค่ากว่าในหลายประเทศ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จูงใจนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ

‘รักษาผู้มีบุตรยาก’บริการยอดนิยมชาวจีน

ข้อมูลจาก“รายงานผลการวิจัยและสำรวจข้อมูลด้านการบริการสุขภาพและบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพของไทย ประกอบการจัดทำศูนย์ข้อมูลนโยบาย Medical Hub” ระบุว่า ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีวัตถุประสงค์หลักมาใช้บริการด้านการแพทย์ในประเทศไทย จำนวน 632,000 คน รวมค่าใช้จ่ายบริการด้านการแพทย์จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 121,917.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ประมาณ 8.5%

ขณะที่ประมาณการใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้บริการทางการแพทย์มีมูลค่า 1,430.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ประมาณ 0.6%

เมื่อรวมค่าใช้จ่ายบริการด้านการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพประมาณ 123,348.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 8.4% เมื่อเทียบกับปี 2561

สำหรับบริการด้านการแพทย์อันดับหนึ่งที่กลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติใช้บริการมากที่สุด คือ บริการตรวจสุขภาพ (สัดส่วน 50.21%) รองลงมาคือรักษากระดูกข้อต่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ (8.58%) รักษาโรคมะเร็ง (8.37%) ป้องกันดูแลเส้นเลือดหัวใจ (4.08%) ทันตกรรม (4.08%) เป็นต้น โดยกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวชาวจีนใช้บริการรักษาผู้มีบุตรยากในสัดส่วนมากที่สุด

นพ.ธเรศ กล่าวถึงโอกาสและศักยภาพของตลาดชาวจีนที่เดินทางเข้ามารับบริการด้านสุขภาพในไทยว่า ตลาดชาวจีนถือเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายที่เราให้ความสำคัญ จากความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีนที่ใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่และเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่เราได้ขยายเวลาเวลาพำนัก 90 วันสำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม

ล่าสุด ชาวจีนยังเป็นชาวต่างชาติกลุ่มแรกในกลุ่ม Medical and Wellness Program ที่ไทยเปิดให้ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศ

นอกจากนี้ ใน 10 กลุ่มบริการทางการแพทย์ (Magnet)ที่ไทยให้ความสำคัญ ยังมีหลายบริการที่รองรับตลาดชาวจีน อาทิ บริการรักษาผู้มีบุตรยาก การผ่าตัดและศัลยกรรมความงาม ซึ่งที่ผ่านมา มีเครือโรงพยาบาลเอกชนของไทยหลายแห่งที่เริ่มรุกเข้าไปจับตลาดลูกค้าชาวจีน อาทิ กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี รวมถึงกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพฯ (BDMS)ซึ่งล่าสุดได้ประกาศความร่วมมือกับ‘ผิงอัน เฮลธ์’ยักษ์ใหญ่บริษัทประกันในจีน เดินหน้าขยายบริการสุขภาพเจาะกลุ่มชาวจีนโดยเฉพาะ

Your email address will not be published. Required fields are marked *