ในครึ่งปีหลังและอนาคตอันใกล้ ไทยและจีนจะก้าวเดินกันต่อไปอย่างไร?หลังวิกฤต COVID-19
สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งไทยและจีนมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล มุมมองเพื่อค้นหาคำตอบและทางออกให้เศรษฐกิจสองประเทศ ผ่านเวทีเสวนา“ ก้าวต่อไปเศรษฐกิจไทย-จีน โอกาสหรืออุปสรรคหลังโควิด” เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา
ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงทิศทางการดำเนินนโยบายของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความท้าทายว่า จากท่าทีของสหรัฐที่มองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม ทำให้ความพยายามในการดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวจีนจะยังคงดำเนินต่อไป
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้จีนหันมาดำเนินนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ Dual Circulation ที่พึ่งพากระแสการไหลเวียนของเงินสองกระแสจากเศรษฐกิจในประเทศและนอกประเทศ โดยมุ่งเน้นสร้างการเติบโตเศรษฐกิจในประเทศ หรือ Inner Circulation มากขึ้น ทั้งการเดินหน้าลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างงานสร้างรายได้เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศให้คนจีนได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด เช่น สมาร์ทดีไวซ์ รถยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์และAI
ขณะเดียวกันจีนยังคงให้ความสำคัญกับ Outer circulation หรือการหมุนเวียนเศรษฐกิจนอกประเทศ โดยมีเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด โดยข้อตกลงการค้า 2 กลุ่มที่จีนให้ความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ อาเซียน และอียู นอกจากนี้ จีนจะยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนใน Belt and Road Initiative (BRI)ต่อไป รวมถึงความพยายามในการพัฒนาโครงสร้างตลาดทุนเพื่อดึงเอาบริษัทชื่อดังของจีนที่อยู่ในตลาด NASDAQ ในสหรัฐกลับมาซื้อขายในตลาดจีน
“ คำถามที่สำคัญคือเราจะเติบโตไปพร้อมกับจีนได้แค่ไหน ไทยจะแสดงความผู้นำอย่างไรในการสร้างบทบาทและเพิ่มอำนาจต่อรองของอาเซียนซึ่งเป็นตลาดที่มีประชากรราว 600 ล้านคน เพื่อประสานผลประโยชน์ระหว่างจีนกับอาเซียนให้เติบโตไปด้วยกันได้
เรื่องหนึ่งซึ่งไทยเคยริเริ่มไว้ในเวทีอาเซียน และควรใช้เป็นโอกาส คือ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงและการพึ่งตนเองด้านวัคซีนในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Vaccine Security and Self-Reliance หรือ AVSSR) เพื่อประสานความร่วมมือในการสั่งซื้อหรือเป็นศูนย์กระจายวัคซีน COVID-19 จากจีนเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ”
สำหรับแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยหลัง COVID-19 ผศ.ดร.ปิติ มองว่า ถึงเวลาที่ไทยต้องมองถึงการขยายสู่ New Market เพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ภาคการผลิตของไทยมีความผูกพันกับจีนค่อนข้างสูง ทำให้ได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก รวมถึงด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงการระบาด COVID-19
อย่างไรก็ตาม คำว่า New Market ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องคบค้ากับจีนน้อยลง แต่อาจเป็นการขยายตลาดไปยังเมืองใหม่ๆ มณฑลใหม่ๆ หรือกลุ่มลูกค้าใหม่ที่อยู่ในจีน เช่น แนวทางการจับคู่ Travel Bubble แบบรายมณฑลซึ่งสามารถควบคุมการเดินทางได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการค้าใหม่ๆผ่าน Platform Economy ที่จีนมีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นอาลีบาบา เท็นเซ็นต์ ซึ่งไทยควรเจรจาเพื่อหาทางใช้ประโยชน์จากข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคในการทำตลาดให้มากขึ้น
ด้าน หลี่ เฟิง ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จํากัด (มหาชน) หรือ Bank of China กล่าวว่า แม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาด COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน โดยจีดีพีไตรมาสแรกหดตัวลง 6.8% แต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจจีนเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง โดยจีดีพีขยายตัวขึ้น 3.11% และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจีนน่าจะขยายตัวได้ 3.2% ถือได้ว่าจีนเป็นประเทศแรกๆที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจาก COVID-19
ทั้งนี้ แม้นโยบายของจีนจะมุ่งเน้นการเติบโตจากตลาดภายในประเทศ แต่ยังคงเปิดกว้างการนำเข้าเพื่อพัฒนาร่วมกัน ขณะเดียวกันยังมีการออกไปลงทุนในหลายประเทศ
จีนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน จึงยังมีโอกาสอีกมากที่ไทยจะขยายการค้ากับจีนในหลายๆเมืองและหลายๆมณฑล ซึ่งตลาดจีนเองก็ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าไทยอยู่มาก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสกินแคร์ สินค้าเพื่อสุขภาพ และผลไม้ไทย ซึ่งปีนี้ทุเรียนไทยยังคงส่งออกไปได้ดีในตลาดจีน
ผู้บริหาร Bank of China มองว่า สินค้าไทยยังมีศักยภาพที่จะเข้าไปทำตลาดในจีน โดยในยุค COVID-19 ช่องทางการขายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆในจีน เช่น อาลีบาบา ถือเป็นช่องทางสำคัญในการโปรโมทและทำตลาดสินค้าไทยให้คนจีนได้รู้จักมากขึ้น ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยสามารถรับชำระเงินหยวนกับคู่ค้าในจีนได้ด้วย ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยขยายโอกาสการค้าระหว่างกันได้มากขึ้น
- ส่องมุมมองฟื้นท่องเที่ยว-ส่งออกไทย
อนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของจีดีพี โดยนักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีความสำคัญอันดับหนึ่งทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ
“ จากปัญหา COVID-19 ระบาดปีนี้ ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก รายได้หายไป 70-80% และยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้เมื่อไหร่ จากนี้ไปเชื่อว่า วิกฤต COVID-19 จะยังคงอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่ และถึงแม้ COVID-19 จะคลี่คลายแล้ว แต่ยังมีประเด็นความเชื่อมั่นและความปลอดภัยจากการติดเชื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่
ในช่วง 1-2เดือนก่อนหน้านี้ เรามีการพูดถึงการเปิดการท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble แต่เนื่องจากยังมีปัญหาการระบาดระลอกที่ 2 และ 3 ในหลายประเทศ รวมถึงเกิดเหตุกรณีที่จ.ระยอง ทำให้ต้องเริ่มกลับมานับหนึ่งใหม่
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การท่องเที่ยวไทยอยู่ระหว่างเจรจากับมณฑลในจีนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากเชื้อ COVID-19 ซึ่งหากสามารถจับมือกันได้ นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มแรกๆที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยได้มีการหารือกันถึงการกำหนดพื้นที่ Safety Zone ที่จะอนุญาตให้เปิดการท่องเที่ยวได้ แต่การท่องเที่ยวแบบ New Normal คงจะเริ่มจากรูปแบบกรุ๊ปทัวร์ก่อนภายใต้มาตรการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
ด้าน ประคัลร์ กอดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ถึงแม้ภาพรวมการส่งออกครึ่งปีแรกของไทยจะติดลบ 7% จากผลกระทบของวิกฤต COVID-19 แต่ในแง่การส่งออกไปตลาดจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่องอยู่ในระดับ 5%
ดังนั้น แม้กิจกรรมต่างๆจะหยุดชะงักไปบ้างในช่วงวิกฤต COVID-19 แต่เชื่อว่ายังมีช่องทางที่ผู้ประกอบการไทยจะปรับตัวเพื่อขยายการส่งออกไปตลาดจีนได้อีกมาก โดยยุทธศาสตร์ที่กระทรวงพาณิชย์ได้วางไว้เพื่อบุกตลาดจีนในยุค COVID-19 ได้แก่ การเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-จีน การเดินหน้ารุกขยายตลาดผ่านทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ โดยร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนเปิดห้องจำหน่ายสินค้าไทยโดยเฉพาะ ควบคู่กับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผลไม้ไทย โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศที่อยู่ในจีนร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ หลังจากจีนเริ่มคลายล็อคดาวน์
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาความพร้อมของผู้ประกอบการการไทย และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI , Big Data ในการเจรจาการค้าผ่านทางออนไลน์โดยร่วมมือกับจีน ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการขยายตลาดในเมืองรองของจีน รวมถึงการจับคู่ความร่วมมือในระดับมณฑล เช่น มณฑลไห่หนาน ซึ่งจีนมีนโยบายผลักดันให้เป็นเขตการค้าเสรีแห่งใหม่
——————————————-