ตามรอย ‘ชาลิ่วเป่า’ จากเส้นทางค้าชาทางเรือสมัยโบราณ โลดแล่นสู่ ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’

ผู้เขียน : เฉิน ลี่ปิง

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ส่งจดหมายแสดงความยินดีกับการจัดกิจกรรมต่างๆ เนื่องในการเฉลิมฉลองวันชาสากล (International Tea Day) ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ใจความส่วนหนึ่งในจดหมายระบุว่า “ชามีต้นกำเนิดในจีน ก่อนจะได้รับความนิยมไปทั่วโลก มติของสหประชาชาติ (UN) ที่กำหนดให้มี ‘วันชาสากล’ สะท้อนให้เห็นว่า ประชาคมโลกให้การยอมรับและให้ความสำคัญกับคุณค่าของชา ทั้งยังมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูอุตสาหกรรมชาและการสืบสานวัฒนธรรมชา จีนในฐานะประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคชารายใหญ่ ยินดีจะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมชาทั่วโลก เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเกี่ยวกับชา ช่วยให้ผู้คนได้รู้จักชา หลงใหลชาและสัมผัสรสชาติแห่งความเพลิดเพลินที่มาพร้อมกับชา”

ชาเป็นหนึ่งใน 3 เครื่องดื่มหลักที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก ในบรรดาชาทั้งหมด ‘ชาลิ่วเป่า’ นับเป็นชาจีนเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาช้านาน และเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นชาที่คนจีนแทบทุกบ้านรู้จักกันดีเท่านั้น แต่ยังมีชื่อเสียงเลื่องลือไปไกลถึงต่างแดนผ่าน ‘เส้นทางค้าชาทางเรือโบราณ’ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี

ชาเลื่องชื่อในตำนานกับเอกลักษณ์อันโดดเด่น

“ชาลิ่วเป่า มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 1,500 ปี ที่มาของชื่อชาลิ่วเป่ามีต้นกำเนิดจากแหล่งผลิตซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลลิ่วเป่า อำเภอชางอู๋ เมืองอู๋โจว เขตฯกว่างซีจ้วง คุณสมบัติเฉพาะของชาลิ่วเป่า  ซึ่งมีสีแดง 红 (หง),เข้มข้น  浓 (หนง), ยิ่งเก่ายิ่งดี 陈 (เฉิน), รสชาตินุ่มนวลลุ่มลึก 醇 (ฉุน) รวมถึงกลิ่นหอมของหมากพลูอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นชาที่มีชื่อเสียงในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล สมัยก่อนมีการขนส่งชาลิ่วเป่ามาตามลำน้ำลิ่วเป่า ผ่านแม่น้ำตงอานเจียง เฮ่อเจียง ซีเจียง มายังกว่างโจว ก่อนจะขนส่งไปมาเลเซียและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็น ‘เส้นทางค้าชาทางเรือ’ ที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนาน” หม่า ซื่อเฉิง ผู้อำนวยการศูนย์บริการพัฒนาอุตสาหกรรมชาเมืองอู๋โจว กล่าว

หม่า ซื่อเฉิง ผู้อำนวยการศูนย์บริการพัฒนาอุตสาหกรรมชาเมืองอู๋โจว 梧州市茶产业发展服务中心党组书记、主任马士成

นอกเหนือจากเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและเบื้องหลังประวัติศาสตร์อันยาวนาน ชาลิ่วเป่ายังมีคุณสมบัติหลัก 3 ประการ “ประการแรก คุณค่าเชิงวัฒนธรรม ชาลิ่วเป่ามีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชาในบริเวณเขตหลิ่งหนาน (岭南) และมีความเชื่อมโยงกับ ‘เส้นทางค้าชาทางเรือโบราณ’ ประการที่สอง คุณค่าเชิงสุขภาพ ชาลิ่วเป่ามีสรรพคุณช่วยลดความชื้นในร่างกาย บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร ประการที่สาม คุณค่าที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บรักษา ชาลิ่วเป่ายิ่งเก็บนานยิ่งดีและยิ่งมีราคา ตอนนี้จึงมีหลายคนที่เก็บสะสมชาลิ่วเป่าเพื่อการลงทุน” หม่า ซื่อเฉิง กล่าว ซึ่งคุณสมบัติทั้ง 3 ประการนี้ ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวกำหนดจุดยืนในตลาดของชาลิ่วเป่า รวมถึงการได้รับการสนับสนุนและให้ความสำคัญจากภาครัฐด้วยเช่นกัน

ตามคำบอกเล่าของหม่า ซื่อเฉิง ปัจจุบัน เมืองอู๋โจวมีสวนสาธิตบูรณาการการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแห่งชาติ 1 แห่ง, เขตพิเศษผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจีนชาลิ่วเป่า 1 แห่ง, เมืองเอกลักษณ์เฉพาะแห่งชาติ (ตำบลลิ่วเป่า) 1 แห่ง, เขตสาธิตหลักเกษตรกรรมยุคใหม่ระดับ 4 ดาว เขตฯกว่างซีจ้วง 2 แห่ง และเขตสาธิตชาลิ่วเป่าเชิงอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานองค์รวม เขตฯกว่างซีจ้วง 2 แห่ง

ในปี 2562 เมืองอู๋โจวมีปริมาณการผลิตชาลิ่วเป่าสูงถึง 17,000 ตัน มูลค่าการผลิตเกินกว่า 2,550 ล้านหยวน มูลค่าแบรนด์ของชาลิ่วเป่าอยู่ที่ 2,640 ล้านหยวน ครองอันดับ 1 ของกว่างซี

หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง สร้างโอกาสใหม่

เมื่อปี 2560 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเคยกล่าวไว้ว่า “จีนเป็นประเทศบ้านเกิดของชา ชามีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของชาวจีนอย่างลึกซึ้ง และกลายเป็นตัวกลางส่งผ่านวัฒนธรรมที่สำคัญของจีน เริ่มจากเส้นทางสายไหมโบราณ เส้นทางค้าชาบนหลังม้า เส้นทางค้าชาทางเรือ มาจนถึงแนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 ในปัจจุบัน ชาได้ข้ามผ่านกาลเวลา ก้าวข้ามเส้นแบ่งพรมแดน จนกลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก” นอกจากนี้ ผู้นำจีนยังได้ยกให้ “เส้นทางค้าชาทางเรือ” และ “เส้นทางค้าชาบนหลังม้า” มีความสำคัญเท่าเทียมกัน และถือเป็นส่วนสำคัญภายใต้ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ชาลิ่วเป่าในฐานะชาที่มีความเชื่อมโยงกับเส้นทางค้าชาทางเรือในอดีต ทุกวันนี้ได้มีบทบาทสำคัญกลายเป็นสื่อกลาง “ผสมผสานตะวันออก (东融)” และเชื่อมโยงประเทศและเขตพื้นที่สำคัญตามแนว “เส้นทางค้าชาทางเรือ” ของเมืองอู๋โจวรวมไปถึงกว่างซี

ตั้งแต่สมัยอดีต ชาลิ่วเป่าได้ถูกลำเลียงผ่านเส้นทางค้าชาทางเรือซึ่งเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมทางทะเล ออกไปขายไกลถึงบริเวณกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า รวมถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นชาชื่อดังที่นิยมในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล แม้ว่ากระแสจะซาไประยะหนึ่งด้วยผลกระทบจากสงครามและปัจจัยอื่นๆ ทว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยแรงขับเคลื่อนจากยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ทำให้ชาลิ่วเป่าได้ออกเดินทางอีกครั้ง จากจุดเริ่มต้น “เส้นทางค้าชาทางเรือ” สายเก่า โลดแล่นสู่จุดมุ่งหมายใหม่ที่กว้างไกลกว่าเดิม ครอบคลุมประเทศและเขตพื้นที่ตามแนว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

ช่วงหลายปีมานี้ เมืองอู๋โจวได้ใช้วิธีการ “รวมกลุ่มจัดงาน เติบโตไปพร้อมกัน” จัดงานมหกรรม “เส้นทางค้าชาทางเรือ เส้นทางสายไหมยุคใหม่ ชาลิ่วเป่าขายไกลทั่วโลก” รวมกลุ่มผู้ค้าชาลิ่วเป่าร่วมออกบูธทั้งในจีนและต่างประเทศ พร้อมจัดงานประชาสัมพันธ์ชาลิ่วเป่าทั่วโลกรวมกว่าร้อยงาน ทั้งในเมืองเอกของแต่ละมณฑลและเมืองสำคัญในจีน รวมถึงประเทศต่างๆ ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และบรูไน ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

“จากการจัดกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ ทำให้ชาลิ่วเป่าเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น การรับรู้แบรนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยอดส่งออกชาลิ่วเป่าโตขึ้นกว่า 20% ทุกปี” หม่า ซื่อเฉิงกล่าว
“มีผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบการดื่มชาลิ่วเป่า ยอดขายช่วงหลายปีมานี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่น่าสนใจก็คือ ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเองก็รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่ได้ดื่มชาลิ่วเป่า” หม่า ซื่อเฉิงกล่าวอย่างภาคภูมิใจ โดยในขั้นต่อไปวางแผนจะเข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าระหว่างประเทศต่างๆ เช่น งาน CAEXPO เพื่อประชาสัมพันธ์ชาลิ่วเป่าให้เป็นที่รู้จักในอาเซียนมากขึ้น

ทำทุกวิถีทางดันแบรนด์ชาลิ่วเป่าให้เป็นที่รู้จัก

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กว่างซีได้ทุ่มเต็มที่ให้กับการสร้างอุตสาหกรรมชามูลค่าแสนล้านหยวน ซึ่งชาลิ่วเป่าได้รับเลือกให้เป็นสินค้าแบนด์หลักของกลยุทธ์การพัฒนาครั้งนี้ และเพื่อให้การทำงานส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมชาลิ่วเป่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมืองอู๋โจวได้จัดตั้ง “สำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมชาเมืองอู๋โจว” ขึ้นในปี 2559 เพื่อทำหน้าที่ดูแลประสานโดยเฉพาะ ก่อนจะจัดตั้ง “ศูนย์บริการพัฒนาอุตสาหกรรมชาเมืองอู๋โจว” ภายใต้สำนักงานฯ เป็นลำดับถัดมาในปี 2562

ในปี 2563 นี้ เมืองอู๋โจวพร้อมทุ่มเทกับโครงการอุตสาหกรรมชาลิ่วเป่าอย่างเต็มที่ ดำเนินการตามแผนงานอุตสาหกรรมชาเมืองอู๋โจว ปี 2563 พร้อมใช้งบสนับสนุนอุตสาหกรรมชาลิ่วเป่ามูลค่า 10 ล้านหยวนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้เพื่อส่งเสริมมาตรฐาน ขยายขนาดอุตสาหกรรม และพัฒนาแบรนด์ชาลิ่วเป่า เดินหน้าขยายพื้นที่ปลูกชาในเมืองอู๋โจวให้ครอบคลุมเนื้อที่เกิน 130,000 ไร่จีน (ราว 86.66 ตร.กม.) พร้อมตั้งเป้าปริมาณการส่งออกปีนี้เกิน 20,000 ตัน เพื่อให้ชาลิ่วเป่าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคและเข้าถึงผู้คนทั่วโลกได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

Your email address will not be published. Required fields are marked *