กระทรวงศึกษาธิการเปิดตัว DEEP (Digital Education Excellence Platform) แพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ดิสรัปชั่นทั้งระบบ เก็บฐานข้อมูลบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ต่อยอดการพัฒนาทุนมนุษย์ Google-Microsoft ร่วมหนุนใช้ระบบ Single Sign-on ครั้งแรกในไทย โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน
รมว.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า DEEP ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างความเท่าเทียมของระบบการศึกษา สร้างความยืดหยุ่นในการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่มีหลักสูตรต่างๆ รองรับ โดยผู้เรียนสามารถเลือกหัวข้อเรียนตามสมรรถนะที่ต้องการพัฒนาได้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียน คุณครู และผู้บริหารสถานศึกษา
ที่สำคัญจะเป็นการตอบโจทย์สมรรถนะของบุคลากรที่ภาคเอกชนหรือตลาดต้องการ โดยประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้ามาเรียนเพื่อการ Re-Skill เพิ่มทักษะของตัวเองได้เช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นที่จะใช้ระบบการศึกษาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์หรือ Human Capital สู่ความเป็นเลิศ
“การศึกษามีเป้าหมายสำคัญในการที่จะสร้างให้คนไทยทุกคนประสบความสำเร็จในอาชีพที่เขาต้องการ ถ้าหากเราสามารถทำแบบนี้ได้ เราก็จะมีคนที่มีความสามารถทั่วทั้งประเทศ เราต้องมาร่วมกันสร้างการศึกษายกกำลังสอง การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นเลิศในแบบฉบับของแต่ละคน เพราะถือว่าอนาคตของเด็กไทย คืออนาคตของประเทศชาติ” รมต.ณัฎฐพลกล่าว
ทั้งนี้ จากปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Digital Transformation) ในโลกศตวรรษที่ 21 รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายในการผนึกกำลังร่วมกับภาคเอกชนและภาคสังคม ในการ “ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนการศึกษา ปฏิรูปสู่ความเป็นเลิศอย่างแท้จริงและยั่งยืน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนกว่า 10 ล้านคนของประเทศสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่มีคุณภาพ และมีทางเลือกที่หลากหลายในการเรียนรู้ ให้ทั้ง “ครูเก่ง นักเรียนเก่ง” เพื่อสร้างทุนมนุษย์รองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก
จึงได้เกิดเป็น “แพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ” หรือ “Digital Education Excellence Platform” หรือ DEEP หนึ่งในกลไกหลักเพื่อขับเคลื่อนการศึกษา โดย DEEP คือห้องเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเน้นทักษะเฉพาะทางตามความต้องการของตลาด ด้วยการเสริมความรู้ตามหลักสูตรตามฐานสมรรถนะและความรู้ตามความสนใจซึ่งทุกคนสามารถเรียนรู้ได้แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
จากสถิติของกระทรวงศึกษา พบว่ามีตลาดผู้เรียนกว่า 10 ล้านคนโดยประกอบด้วย นักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา ขณะที่นอกระบบการศึกษามีภาคสังคมที่ต้องการการพัฒนาทักษะที่จำเป็น และขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีผู้ผลิตคอนเท้นต์ที่มีประโยชน์มากมาย
DEEP จึงเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาความรู้ต่างๆ ได้มากขึ้น โดยในช่วงระยะแรกของ DEEP เริ่มต้นให้การพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ และทักษะด้านดิจิทัลให้กับนักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่เป็นผู้ผลิตหลักสูตรชั้นนำและได้รับการยอมรับทั่วโลกด้านมาตรฐานการประเมินผล อาทิ Google, Microsoft, Cambridge Assessment English, Pearson, British Council, IC3, ICDL, Arkki และมหาวิทยาลัยในเครือราชภัฏ ในการอัพโหลดเนื้อหาขึ้นบนแพลตฟอร์ม
วราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า DEEP เป็นดิจิทัล ดิสรัปชั่นทางการศึกษา ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนการบริหารงาน และการพัฒนาทรัพยากรครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา โดยด้านกระบวนการบริหารจัดการภายใน กระทรวงศึกษาธิการจะมีฐานข้อมูลของบุคลากร และเด็กนักเรียนทั้งหมดที่ครบถ้วนทันที เป็นบิ๊กดาต้า ผ่านระบบดิจิทัล จากปัจจุบันที่การบันทึกเก็บข้อมูลด้วยระบบเอกสาร
ทั้งนี้ ระบบ DEEP จะทำงานผ่าน 3 ส่วน ได้แก่ ระบบ Classroom Management, School Management และ Office Management เพื่อระบบบริหารจัดการภายในทั้งด้านงบประมาณ ครุภัณฑ์ ระบบระเบียนเด็ก ซึ่งลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวก็สามารถดึงข้อมูลมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง
DEEP ยังช่วยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรทางการศึกษา เป็นการเปลี่ยนกรอบวิธีคิดด้านการเรียนการสอน และสิ่งแวดล้อมทางการเรียน เปลี่ยนรูปแบบให้ห้องเรียนเป็นที่ฝึกฝนคล้ายคลึงกับห้องปฏิบัติการ หรือเรียนรู้ผ่านโครงงานในภาคปฏิบัติ
ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่มีในระบบ DEEP สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับจากนี้ 12 เดือน ข้อมูลจะสามารถคลิกดูด้วยปลายนิ้วทันที นอกจากนี้ ภายใต้ระบบ DEEP ยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบการจัดหางานให้กับผู้จบการศึกษา เพื่อให้สามารถมีงานทำภายหลังจบการศึกษาได้ทันทีอีกด้วย
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า การศึกษาไทยต้องปรับเปลี่ยน โดยต้องเน้นการพัฒนาทักษะใน 4 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) การทำงานเป็นทีม (Collaboration) และมีทักษะการสื่อสารที่ดี (Communication)
หากทำได้เชื่อว่า เยาวชนไทยจะได้รับการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งการศึกษายกกำลังสองของกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเยาวชนผ่านระบบดิจิทัล ดิสรัปชั่น ทำให้ตนนั้นมีความหวังต่อการพัฒนาระบบการศึกษาไทย
สำหรับการใช้งานบนแพลตฟอร์ม DEEP นั้นเป็นระบบการล็อกอินเดียว (Single Sign-on) โดยเมื่อลงทะเบียนบน DEEP ในครั้งแรกและได้รับอีเมลจากระบบก็สามารถเข้าใช้แพลตฟอร์มอื่นๆ อย่าง กูเกิล ไมโครซอฟต์ผ่านแพลตฟอร์ม DEEP ได้ และในอนาคตทางกระทรวงศึกษาธิการยังได้วางแผนให้ DEEP ได้เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่นอกจากจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ให้นักเรียนและครูในระบบแล้ว ยังช่วย “ปรับเปลี่ยน” ระบบการเรียนการสอนของไทย ให้นักเรียน นักศึกษาได้ทำการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองนอกห้องเรียน และนำมาวิเคราะห์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณครูที่จะรับหน้าที่ในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกทางการเรียนหรือ Facilitator ได้ด้วย
นอกจากนี้ DEEP ยังสามารถเก็บสถิติการเรียนการสอนในแต่ละครั้งของนักเรียนและครู โดยในปัจจุบันตั้งแต่เปิดการใช้ DEEP อย่างไม่เป็นทางการนั้นมีผู้เรียนล็อกอินเพื่อใช้ DEEP ไปแล้วกว่า 450,000 ครั้ง ซึ่งจากการเก็บสถิติที่เป็นประโยชน์ของ DEEP นี้ จะช่วยในการเปลี่ยนแปลงแนวทางการประเมินทั้งกระบวนการในรูปแบบ Lifetime Development Profile ที่จะบันทึกเส้นทางการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองได้
DEEP จึงเป็นห้องเรียนแห่งชาติที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เข้าถึงความรู้ที่ทันสมัย ทันต่อโลก ง่ายแค่เพียงคลิกเดียว โดยสามารถเข้าชมหน้าแพลตฟอร์ม DEEP ได้ที่ www.deep.go.th และภายใต้แผนงานการศึกษายกกำลังสองนั้น ยังมีชิ้นส่วนต่ออีกชิ้นหนึ่งที่จะช่วย “ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” ระบบการศึกษาทั้งหมด ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายนนี้ กับการเปิดตัวศูนย์ต้นแบบ Human Capital Excellence Center (HCEC) หรือศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ ณ โรงเรียนสตรีวิทยา 2 ซึ่งเป็นอีกกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21
————————————————