ส่องทิศทางเศรษฐกิจไทย-จีน โค้งสุดท้ายปี 63 ธุรกิจไหนยังไปได้ ธุรกิจไหนที่น่าห่วง ??..ผ่านผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ‘หอการค้าไทย-จีน’

   

        เมื่อวันที่ 9 ก.ย. หอการค้าไทย-จีน ภายใต้การนำของ ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน ร่วมกับ รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  แถลงผลการสำรวจ ‘ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน’ ไตรมาส 4/2563 ซึ่งได้จากการสำรวจความคิดเห็นจากคณะกรรมการหอการค้าไทย-จีน เครือข่ายสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน และสมาคมธุรกิจต่างๆกว่า 50 สมาคม  ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ และเจ้าของกิจการทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ เพื่อประเมินผลทิศทางเศรษฐกิจไตรมาส 4 /2563  โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจไทย-จีน

          ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจจีนทั้งการค้าและการลงทุนไตรมาส 4/2563 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2563 ส่งผลให้การนำเข้าและส่งออกระหว่างไทยกับจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

            ขณะที่มุมมองถึงแนวโน้มการลงทุนจากจีนในไทยยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาในอนาคต โดยนักธุรกิจที่ตอบแบบสอบถามจำนวน 35.5%  มองว่าการลงทุนมีโอกาสเพิ่มขึ้น ส่วนอีก 29.8% มองว่าทรงตัว และอีก 24.9%มองว่ามีโอกาสที่จะลดลง

            ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า จากการที่เศรษฐกิจจีนขยายตัว 3.2% ในไตรมาสที่ 2/2563 และการค้าระหว่างประเทศไทยและจีนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นมา โดยรอบ 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.63) การส่งออกไทยไปตลาดจีนขยายตัว 4.5%  หรือคิดเป็นสัดส่วน 12.8% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย จึงเป็นปัจจัยบวกในการขับเคลื่อนการส่งออกไทยได้ระดับหนึ่ง และเมื่อเศรษฐกิจจีนมีทิศทางดีขึ้นก็ย่อมส่งผลต่อการค้าและส่งออกของไทยกับจีนจะเติบโตเช่นกัน

  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้าย

           นักธุรกิจส่วนใหญ่มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยและทิศทางตลาดหุ้นไตรมาสสุดท้ายปีนี้ว่า มีโอกาสที่จะทรงตัวและปรับตัวดีขึ้นมากกว่าโอกาสที่จะถดถอย หลังจากผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ที่เศรษฐกิจไทยหดตัว 12.2%  โดยคาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.85-31.35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

            ด้านมุมมองต่อภาคธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4  เรียงตามลำดับ ได้แก่ 1.ธุรกิจออนไลน์  2.พืชผลการเกษตร 3.ธุรกิจบริการสุขภาพ 4.ธุรกิจโลจิสติกส์ และ5. สินค้าเกษตรแปรรูป

            ส่วนภาคธุรกิจที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนในไตรมาส 4 ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  2.อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง 3.อุตสาหกรรมการผลิต 4.บริการทางการเงิน 5.ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง

            ขณะที่ปัญหาปากท้องประชาชนเป็นปัญหาอันดับหนึ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขโดยเร็วที่สุด รองลงมาคือการป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 รอบใหม่

            ด้านปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน นักธุรกิจที่ตอบแบบสำรวจ จำนวน 40.7% ให้ความสำคัญมากที่สุดกับปัจจัยด้านสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความมั่นคงและการประท้วงที่คลี่คลาย ส่วนอีก 25.7% ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านการทดลองวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในคนได้อย่างสมบูรณ์  โดยกว่าที่นักธุรกิจจะเกิดความมั่นใจและมีการลงทุนใหม่ๆเกิดขึ้นอีกครั้ง คาดว่าอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 9-12 เดือน

             “ เรื่องโควิดเราไม่ค่อยไม่กังวลเท่ากับการเมือง เพราะยังไงวันหนึ่งก็ต้องมีวัคซีนออกมา แต่การเมืองเราดูไม่ออกว่าจะไปทางไหน  ถ้าปัจจัยการเมืองนิ่งสักนิด ผมคิดว่าจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยไปได้อีกเยอะ” ประธานณรงค์ศักด์ กล่าว  

  • เสนอแนวทางเร่งกู้วิกฤตท่องเที่ยว-อสังหาฯ

            ในมุมมองของประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะหดตัวมากก็ตาม แต่เริ่มมีสัญญาณบวกจากความสามารถในการควบคุมโดยที่ไม่มีการระบาดของ COVID-19 ในประเทศติดต่อกันกว่า 100 วัน

            อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศยังไม่เพียงพอที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการผลักดันมาตรการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ 

            ทั้งนี้ จากการสอบถามถึงแนวทางการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เกินครึ่งของนักธุรกิจที่ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า ควรมีมาตรการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ แต่ต้องมาจากพื้นที่ที่ปลอดจาก COVID-19 โดยมีการกักตัวในระยะเวลาที่สั้นลง ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยง และมีความเหมาะสมตามที่ทางการแพทย์ยอมรับได้ 

            “ จากการประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยว มีข้อสรุปร่วมกันว่า ควรมีการเปิดประเทศบางส่วนเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยคำนึงถึงสมดุลด้านเศรษฐกิจควบคู่สาธารณสุข  โดยอาจจับคู่การท่องเที่ยวในลักษณะเมืองกับเมือง เช่น เมืองกว่างโจว หรือเมืองอื่นของจีนที่ไม่มีการแพร่ระบาดของ COVID -19 เกิน 100 วัน จับคู่กับเมืองท่องเที่ยวของไทย เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น โดยลดระยะเวลาในการกักตัวสั้นลงจาก 14 วัน ขึ้นกับระดับความเสี่ยงและสถานการณ์  รวมทั้งต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนในท้องถิ่น  มีการจำกัดพื้นที่และมีการติดตามควบคุมอย่างใกล้ชิด

            นอกจากนี้ ยังมองถึงโอกาสในการดึงดูดกลุ่มผู้สูงอายุและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทยในรูปแบบ Long Stay  ขณะที่มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภาคสถาบันการเงินควรออกมาตรการพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอีกอย่างน้อย 1 ปีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

  

           ประธานณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งธุรกิจที่น่าเป็นห่วง คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง  โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ซึ่งจ่ายมัดจำไว้แล้ว 30-50% แต่เนื่องจากข้อจำกัดการเดินทางในช่วง  COVID-19 และข้อกฎหมายที่เข้มงวดเรื่องการโอนเงิน ทำให้มีการชะลอการโอนกรรมสิทธิ์ของลูกค้าต่างชาติ โดยปัจจุบัน มียอดรอโอนอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นยูนิต และมีสต๊อกคงค้างสะสมประมาณ 93,882 ยูนิต จึงต้องการเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยโดยการจัดหาสภาพคล่องหรือเงินทุนระยะสั้นในรูปแบบการจัดตั้งกองทุน  วงเงินประมาณ  5,000 – 1 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ในการรับโอนอสังหาริมทรัพย์ส่วนนี้ไว้ก่อน

            สำหรับ “โครงการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน” เป็นการสำรวจความเห็น โดยวัดความรู้สึกจากผู้ประกอบการตัวจริง ที่มีประสบการณ์ธุรกิจมายาวนานมีความใกล้ชิดกับภาครัฐและเอกชนจีน และชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งได้ดำเนินการเพื่อสานต่อจากอดีตประธานหอการค้าไทย-จีน  โดยปรับรูปแบบและการสำรวจความเห็นในการตอบแบบสอบถามพร้อมกัน และบางส่วนเป็นการตอบแบบสอบถามผ่านระบบออนไลน์ประกอบด้วย  4 ส่วน ได้แก่ 1. ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจไทย- จีน 2.ตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจไทย 3.ตัวชี้วัดปัจจัยเกื้อหนุน และ 4.ประเด็นและเหตุการณ์เฉพาะกิจ

            ทั้งนี้ แม้ในช่วง COVID-19 จะทำให้การเดินทางมีข้อจำกัด แต่หอการค้าไทย-จีน ยังคงเดินหน้าทำหน้าที่ส่งเสริมและยกระดับการค้าการลงทุนไทย-จีนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานในเมืองสำคัญต่างๆของจีน อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว ฉงชิ่ง ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเชิญชวนนักลงทุนหลัง COVID-19 คลี่คลาย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพของจีน ซึ่งมีโอกาสจะเข้ามาลงทุนในไทย จากอานิสงส์สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่ยังคงไม่ยุติลงง่ายๆ

——————————————

Your email address will not be published. Required fields are marked *