นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานจัดงานแสดงสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม THAIFEX–ANUGA ASIA 2020 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในรูปแบบผสมผสานระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ หรือ Hybrid เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ตอบรับสถานการณ์การค้าวิถีใหม่ (New Normal)
รองนายกฯจุรินทร์ กล่าวว่า ปี 2563 เป็นปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน กิจกรรมหลายๆอย่างต้องหยุดชะงักหรือชะลอตัว แม้แต่อุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เคยเติบโต ก็ได้รับผลกระทบ
ยิ่งไปกว่านั้น เรายังต้องเผชิญกับสถานการณ์สงครามการค้า เศรษฐกิจชะลอตัว ความผันผวนของค่าเงินบาท ดังนั้น การปรับตัวทางเศรษฐกิจและการปรับตัวทางการค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ จึงเป็นเรื่องที่มีความสาคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าให้กับฐานราก โดยเฉพาะในส่วนของเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี โอท็อป รวมทั้งไมโครเอสเอ็มอีต่างๆ ที่อยู่ในทุกภาคส่วนของภูมิภาค
กระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นความจำเป็นที่จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยนำแนวนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนําการผลิต” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสองกระทรวงสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับพื้นฐานของประเทศ จนก้าวสู่ตลาดโลก คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงพาณิชย์ สร้างฐานข้อมูล Big Data ร่วมกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ มุ่งสู่เป้าหมายให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก”
โดยในด้านการค้าภายในประเทศ จะมีเซลส์แมนจังหวัดทำหน้าที่ขยายตลาดและหาช่องทางการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการทำงานเป็นทีมระหว่างพาณิชย์จังหวัด จับมือกับเกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจ ภาคเอกชน และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สร้างโอกาสการค้าและช่องทางการเข้าสู่ตลาดของสินค้าและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย
ด้านการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์มีกลไกในการเชื่อมโยงตลาดโลกและผู้ประกอบการไทยให้มาเจอกัน ผ่านสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ซึ่งได้กระจายที่ตั้งครอบคลุมตลาดคู่ค้าหลักๆ และตลาดที่มีศักยภาพทั่วโลก จำนวน 58 แห่ง มีเซลส์แมนประเทศ เปรียบเสมือนทัพหน้าที่จะกรุยทางให้ผลผลิตจากเกษตรกร ผลิตภัณฑ์อาหารจากผู้ผลิตก้าวสู่ตลาดต่างประเทศอย่างมั่นคง สร้างโอกาสในการแข่งขัน รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยในการเจาะตลาดสำคัญ
ทั้งนี้ ได้มีนโยบายเร่งรัดผลักดันการส่งออกภายใต้แนวทาง “รักษาและขยายตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ ฟื้นตลาดเก่าที่เคยเป็นตลาดสําคัญ” โดยมีคณะผู้บริหาร ระดับสูงเดินทางไปทำความตกลงทางการค้า(MOU) และจับคู่ธุรกิจกับนานาประเทศทั้งในแถบเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง
เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ผมได้เล็งเห็นลู่ทางการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ โดยการผลักดันแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่กระทรวงพาณิชย์มีอยู่ จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ รวมถึงร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่างชาติ เช่น อาลีบาบาของจีน
ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหารนั้น แม้จะมีเหตุการณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในการผลิตและส่งออกอาหารในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยสามารถให้ความมั่นใจกับผู้บริโภคทั่วโลกได้ว่า อาหารไทยปลอดภัยปราศจากเชื้อในกระบวนการผลิต
จนรัฐบาลไทยสามารถออกหนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออกให้กับผู้ผลิตอาหาร เพื่อแสดงต่อผู้ซื้อและผู้นำเข้าในต่างประเทศ ซึ่งหนังสือรับรองดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย โดยผมได้มอบให้ท่านปลัดทั้ง 4 กระทรวงเป็นผู้ลงนามความร่วมมือในวันนี้ เพื่อรับรองการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID- 19 Prevention Best Practice) สำหรับงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม THAIFEX จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งงานนี้เป็นงานสำคัญที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 30
“สำหรับการจัดงานในปีนี้ ได้มีการปรับชื่องานเป็น THAIFEX – ANUGA ASIA ซึ่งเป็น การรวมตัวกันระหว่าง 2 งานที่ยิ่งใหญ่ คือ THAIFEX ของประเทศไทย และ ANUGA จากเยอรมนี และยังเป็นปีแรกที่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานให้เป็นแบบไฮบริด (Hybrid) เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ซึ่งต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ โดยใช้ชื่องานว่า THAIFEX – ANUGA ASIA 2020 “The Hybrid Edition” โดยเป็นการผสมผสานการจัดงานระหว่างออฟไลน์และเทคโนโลยีออนไลน์
การจัดงานครั้งนี้ จะเป็นการช่วยกระตุ้นตั้งแต่สินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป อุตสาหกรรม อาหารและเครื่องดื่มของไทยให้ฟื้นตัวกลับมา พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่น และเน้นย้ำให้ทั่วโลกได้เห็นถึง ศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยในเรื่องความปลอดภัย และยังสามารถผลิตและ ส่งออกได้ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับการบริโภคในโลก ซึ่งแม้ว่าจะมีเรื่องโควิด-19 มากระทบ แต่เราได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าแบบออฟไลน์รวม 708 บริษัท 1,747 คูหา
ผมมั่นใจว่าการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบผสมผสาน (หรือ Hybrid) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย จะตอบรับสถานการณ์การค้าวิถีใหม่ (New Normal) ของงานแสดงสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม THAIFEX–ANUGA ASIA 2020 “The Hybrid Edition”ครั้งนี้และจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งคาดว่าจะได้มูลค่ามากกว่า 6000 ล้านบาท” นายจุรินทร์ กล่าว
รายงานข่าวกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า มีการจัดงานแสดงสินค้าจริง ณ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพคแห่งนี้ วันที่ 22-26 กันยายน ระหว่างผู้เข้าร่วมงาน (Exhibitors) และผู้ชมงานในไทยที่ประกอบด้วย นักธุรกิจในวงการอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในไทย 51,869 กิจการ รวมถึงตัวแทนผู้ซื้อจากต่างประเทศ (Buying Agents) ที่มีสำนักงานในไทย และการจัด กิจกรรมเจรจาการค้าออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงการจัดงานแสดงสินค้าเสมือนจริง หรือ Virtual Trade Show ระหว่างผู้เข้าร่วมงาน (Exhibitors) กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าต่างประเทศ (Importers) ที่ไม่สามารถเดินทางมาประเทศไทยได้ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการไทย 519 บริษัทและตัวแทนที่อยู่ในประเทศไทยของผู้ประกอบการต่างชาติจาก 12 ประเทศ ได้แก่ บราซิล แคนาดา จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี นอร์เวย์ โปแลนด์ ไต้หวัน อเมริกา และเวียดนาม รวม 189 บริษัท บนพื้นที่กว่า 60,000 ตารางเมตร ซึ่งมีการใช้มาตรการการดูแลสุขอนามัย ของผู้เข้าร่วมงานอย่างเคร่งครัด