บทบาทของมณฑลไห่หนาน หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า“เกาะไหหลำ”กำลังโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศ “แผนแม่บทสำหรับการสร้างท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างมณฑลที่เป็นเกาะทางใต้ของจีนแห่งนี้ให้กลายเป็นท่าเรือการค้าเสรีระดับสูงและมีอิทธิพลในระดับโลกภายในกลางศตวรรษที่ 21
แผนการพัฒนาไห่หนานในครั้งนี้จะไม่เร่งสร้างเพื่อผลลัพธ์ที่รวดเร็วเหมือนที่ผ่านมา แต่จะพัฒนาไปทีละขั้นตอน ไห่หนานจะได้รับอิสระในการปฏิรูปมากขึ้น และจะได้รับการส่งเสริมความยืดหยุ่นทางด้านกฎหมายเพื่อขจัดอุปสรรคในการไหลเวียนของปัจจัยการค้าการลงทุนด้านต่างๆ โดยในช่วงแรกจะเน้นส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันกับโครงการอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Great Bay Area : GBA)
รู้จักเกาะไห่หนาน
มณฑลไห่หนาน เป็นมณฑลที่เล็กที่สุดที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของจีน ล้อมรอบด้วยทะเลจีนใต้ ถือเป็นเกาะใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของจีน รองจากเกาะไต้หวัน มีพื้นที่กว่า 3.5 หมื่นตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าฮ่องกง 35 เท่า มีประชากร 9.5 ล้านคน
ทางทิศเหนือของไห่หนานมีช่องแคบโฉงโจวกั้นระหว่างไห่หนานกับมณฑลกวางตุ้ง ทางทิศตะวันตกมีอ่าวเป่ยปู้ติดกับเวียดนาม ทิศตะวันออกหันหน้าเข้าเกาะไต้หวัน ทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศใต้หันหน้าเข้าสู่ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
ในสมัยโบราณ ไห่หนานเคยถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับเนรเทศข้าราชการ ปัจจุบัน กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่มีชื่อเสียงและงดงาม จนได้รับฉายาว่าเป็น “ฮาวายของจีน”
ไห่หนานยังเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเมืองร้อนที่สำคัญของจีน เช่น มะพร้าว กล้วย ยางพารา ล่าสุด ยังสามารถทดลองปลูกทุเรียนได้เป็นผลสำเร็จอีกด้วย นอกจากนี้ ไห่หนานยังได้รับสมญานามว่าเป็นมณฑลแห่ง “คลังยาจากธรรมชาติ” และได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง
เปิดแผนจีนเดินหน้าพัฒนา ‘ไห่หนาน’
ในอดีตไห่หนาน เคยเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกว้างตุ้ง จนกระทั่งในปี 1988 “เติ้ง เสี่ยวผิง”อดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของจีนได้ยกระดับเกาะไห่หนานขึ้นเป็นมณฑลและพัฒนาให้เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone)”ที่ใหญ่ที่สุดของจีน เช่นเดียวกับที่จีนเคยพัฒนาเมืองเซินเจิ้นจากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆให้กลายเป็นหนึ่งในเมืองศูนย์กลางเทคโนโลยีชั้นสูงที่เฟืองฟู
ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเคยออกนโยบายต่างๆ เพื่อผลักดันการพัฒนาไห่หนานอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสถาปนาให้ไห่หนานเป็น “เกาะท่องเที่ยวนานาชาติ” ในปี 2009 โดยกำหนดนโยบายพิเศษเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว การส่งเสริมให้จัดงานอีเวนต์ระดับโลก เช่น การจัดประกวด Miss World ติดต่อกันหลายปี การจัดแข่งขันกอล์ฟระดับโลก รวมถึงการประชุมฟอรั่มเอเชียโป๋อ๋าว (Boao Forum for Asia)
นอกจากนี้ ในปี 2011 ยังได้เริ่มนำร่องนโยบายชอปปิงสินค้าปลอดภาษี เพื่อผลักดันให้ไห่หนานเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวระดับโลก
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในปี 2018 ในวาระครบรอบ 30 ปีที่ไห่หนานได้ยกระดับเป็นมณฑลและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางเยือนไห่หนาน และประกาศวิสัยทัศน์เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2018 ที่จะเดินหน้าการสร้างเขตการค้าเสรีนำร่องทั้งเกาะไห่หนาน พร้อมกับการสร้างท่าเรือที่มีอัตลักษณ์ของจีน โดยตามแผนจีนจะพัฒนาไห่หนานโดยมุ่งเน้นธุรกิจหลักด้านท่องเที่ยว งานบริการ และเทคโนโลยีขั้นสูง
ล่าสุด ในเดือนมิ.ย.2020 รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนแม่บทว่าด้วยการสร้างเมืองท่าการค้าเสรีไห่หนาน เพื่อมุ่งเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน โดยเนื้อหาสาระสำคัญในแผน “6+1+4” ประกอบด้วย
ตัวเลข 6 หมายถึง (1)การอำนวยความสะดวกด้านการค้าเสรี (2)การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (3)การอำนวยความสะดวกด้านการหมุนเวียนของทุนข้ามชาติ (4)การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางเข้าออกของผู้คน (5)การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง และ (6)การประกันความปลอดภัยและความเป็นระเบียบด้านการหมุนเวียนของข้อมูล
ตัวเลข 1 หมายถึง การสร้างระบบอุตสาหกรรมที่ทันสมัย โดยเน้นการใช้ประโยชน์ความได้เปรียบและเอกลักษณ์ของไห่หนาน ทุ่มเทพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการบริการที่ทันสมัย และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง
ตัวเลข 4 หมายถึง การเสริมสร้างระบบใน 4 ด้าน ได้แก่ (1)ด้านการเก็บภาษี (2)ด้านการบริหารจัดการทางสังคม (3)ด้านระบบกฎหมาย และ (4)ด้านการป้องกันและควบคุมความเสี่ยง
การดำเนินนโยบายท่าเรือการท่าเสรีไห่หนานจะมีขอบเขตครอบคลุมทั่วทั้งเกาะไห่หนาน โดยมีเป้าหมายกำหนดไว้เป็น 3 ระยะคือ
1. เมื่อถึงปี 2025 สร้างระบบนโยบายและกลไกสำหรับท่าเรือการค้าเสรีที่ถือความสะดวกและอิสระด้านการค้าและการลงทุนเป็นสำคัญในขั้นพื้นฐาน
2. เมื่อถึงปี 2035 ระบบและรูปแบบการดำเนินงานของท่าเรือการค้าเสรีเติบโตพัฒนามากขึ้น
3. เมื่อถึงกลางศตวรรษที่ 21 ไห่หนานจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นท่าเรือการค้าเสรีระดับสูงที่มีอิทธิพลต่อทั่วโลก
‘ไห่หนาน’ โอกาสใหม่การค้าไทย-จีน
ล่าสุด ไห่หนานยังได้ปรับเพิ่มโควตาการซื้อสินค้าปลอดภาษีจากเดิม 30,000 หยวน เป็น 1 แสนหยวน/คน/ปี รวมถึงปรับเพิ่มหมวดหมู่สินค้าปลอดภาษีจากเดิม 38 หมวดเป็น 45 หมวด อีกทั้งยังยกเลิกข้อจำกัดที่ให้สินค้าปลอดภาษีมีราคาสูงสุดอยู่ที่ 8,000 หยวนต่อชิ้น โดยผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์บางประเภทเช่น ไอโฟน แท็บเล็ต นาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหนึ่งในสินค้าจูงใจนักช้อปที่ถูกเพิ่มเข้าในรายการปลอดภาษีด้วย
สินค้าเครื่องสำอางที่จำหน่ายที่อื่นในราคา 1,500 หยวน แต่ที่ไห่หนาน คนจีนสามารถซื้อได้ในราคาแค่ 800 หยวน ไอโฟนที่ขายกันราคาเครื่องละไม่ต่ำกว่า 12,600 หยวน แต่ถ้าซื้อที่ไห่หนานจะได้ราคาถูกกว่ากันถึง 2,500 หยวน ราคาสินค้าดิวตี้ฟรีที่แสนเย้ายวนใจนี้กำลังดึงดูดนักช้อปชาวจีนมากมายมาที่ไห่หนาน
วิโรจน์ ไกรธีรวุฒิ อุปนายกสมาคมใหหนำแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสมาคมการค้าไทยไหหลำ กล่าวว่า การปรับเพิ่มโควตาการซื้อสินค้าปลอดภาษีเพิ่มเป็น 1 แสนหยวนต่อคนต่อปี เป็นหนึ่งใน 60 นโยบายเด่นๆที่จีนได้ออกมา หลังจากที่มีการประกาศ“แผนแม่บทสำหรับการสร้างท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน”เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
ตามข้อมูลที่เปิดเผยออกมา การนำเข้าสินค้าบางอย่าง รวมทั้งอุปกรณ์การผลิต ยานพาหนะ เรือ เครื่องบิน วัตถุดิบรวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคจะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลถูกปรับลงไปที่ระดับไม่เกิน 15% ซึ่งต่ำกว่าอัตราภาษีในแผ่นดินใหญ่อย่างมาก
“ อีกนโยบายที่น่าสนใจคือการอนุญาตให้นำสินค้าเข้าไปเก็บไว้ในคลังสินค้าในเกาะไห่หนาน โดยไม่ต้องเสียภาษี เพื่อรองรับ Cross Border E-Commerce ส่งสินค้าไปยังแผ่นดินใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังมีนโยบายดึงดูดให้ธุรกิจต่างๆเข้ามาตั้งโรงงานประกอบสินค้า โดยยกเว้นภาษีให้กับสินค้าที่นำเข้ามาในไห่หนานเพื่อแปรรูปหรือสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม 30% เพื่อส่งเข้าไปขายในจีนแผ่นดินใหญ่โดยไม่ต้องเสียภาษี
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเปิดกว้างอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานที่ไห่หนานสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ รวมถึงการเปิดให้ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจการเงินสามารถเข้าไปตั้งธุรกิจได้ ตลอดจนเปิดเสรีด้านการสื่อสารดาต้าในมือถือ นั่นหมายความว่าไห่หนานจะเป็นที่แรกของจีนที่สามารถใช้ Line, Google และ Facebook ได้” อุปนายกสมาคมการค้าไทยไหหลำ ระบุ
มาตรการเหล่านี้นับเป็นการเปิดกว้างครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ อันทำให้มณฑลที่มีขนาดเล็กที่สุดของจีนแห่งนี้มีเสรีทั้งด้านการค้า การเคลื่อนย้ายเงินทุน การเคลื่อนย้ายประชากร และข้อมูลข่าวสาร
ในการพัฒนาไห่หนานของจีนครั้งนี้ยังมุ่งเน้นให้ประชาชนในไห่หนานได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างถ้วนหน้า และต้องเป็นการลงทุนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีมาตรการในการป้องกันการลงทุนเก็งกำไรในธุรกิจอสังริมทรัพย์เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยอดีต
ทั้งนี้ เกาะไห่หนาน มี 4 เมืองใหญ่ที่สำคัญที่จีนวางแผนพัฒนาไว้ ได้แก่ “ไหโข่ว” เมืองหลวง ซึ่งตั้งเป้าผลักดันให้เป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินและแหล่งชอปปิงสินค้าปลอดภาษี พร้อมทั้งพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่เจียงตงให้เป็นเมือง Zero Carbon ระดับโลก


วิโรจน์ ไกรธีรวุฒิ อุปนายกสมาคมใหหนำแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสมาคมการค้าไทยไหหลำ
“เมืองโป๋อ๋าว” ทางภาคตะวันออก พัฒนาให้เป็นเมืองแห่งการประชุมและศูนย์กลางด้านการเทคโนโลยีทางการแพทย์
“เมืองซานย่า” ทางภาคใต้ เป็นศูนย์กลางทางการค้า และเศรษฐกิจมาตรฐานระดับโลก โดดเด่นด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่สวยงาม มีโรงแรมหรูระดับโลก และสถาปัตยกรรมที่สวยงามแปลกตา ดึงดูดนักท่องเที่ยว
ส่วนทางภาคตะวันตก มี “ท่าเรือหยางผู่” เป็นเมืองท่าเรือน้ำลึก ศูนย์ท่าเรือนำเข้าส่งออกนานาชาติ รองรับการนำสินค้าเข้ามาเก็บในคลังหรือตั้งโรงงานแปรรูปและส่งออก
ในช่วงที่ผ่านมา เกาะไห่หนานยังได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อรองรับ ทั้งถนนรอบเกาะ รถไฟความเร็งสูงรอบเกาะ สนามบินซึ่งมีทั้งในภาคเหนือ ตะวันออก และใต้ของเกาะ ล่าสุด ยังอยู่ระหว่างวางแผนสร้างสนามบินใหม่ทางฝั่งตะวันตก
“ ผมมองว่า ธุรกิจของไทยมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเชื่อมโยงกับไห่หนาน ซึ่งเป็นเมืองเขตร้อนเหมือนกับไทย เช่น ความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร และจากการที่ไห่หนานเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของจีน ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนกว่า 70 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว จึงเป็นโอกาสที่สินค้าไทยจะไปเปิดตัวในงานไห่หนานเอ็กซ์โป เพื่อเป็นประตูเปิดตลาดให้คนจีนที่มาเที่ยวได้รู้จักสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าด้านอาหารและความงาม” วิโรจน์ กล่าว
ล่าสุด จากบทบาทของไห่หนานในการเป็นเขตการค้าเสรีที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” จึงมีนโยบายที่จะผลักดันการเชื่อมโอกาสทางการค้าระหว่างไทยกับไห่หนาน โดยอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำ MOU ความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยกับรัฐบาลมณฑลไห่หนาน โดยเบื้องต้นตั้งเป้าที่จะนำผลไม้ไทยเข้าไปทำตลาดในไห่หนาน
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสการจ้างงานสำหรับคนไทยที่ต้องการไปทำงานในจีน โดยเมื่อเร็วๆนี้ มณฑลไห่หนานได้ประกาศรับสมัครผู้มีความรู้ความสามารถจากทั่วโลกมากกว่า 30,000 อัตรา เพื่อรองรับนโยบายการผลักดันให้ไห่หนานเป็นท่าเรือการค้าเสรีที่มีบทบาทของจีน โดยตำแหน่งงานที่เปิดรับเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบริการยุคใหม่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
จากนี้ไป จึงน่าติดตามว่า ด้วยความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง จะสามารถพลิกโฉมไห่หนานในรอบนี้ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาของจีนได้หรือไม่ กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์