มณฑลไห่หนาน มีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม ตั้งอยู่ไม่ไกลจากจีนแผ่นดินใหญ่ เชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอย่างเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA: Greater Bay Area) รวมทั้งเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาสมุทรอินเดีย ทวีปโอเชียเนีย และทวีปแอฟริกา
ในแผนแม่บทของจีนสำหรับการสร้างท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ไห่หนานจะต้องเสริมความร่วมมือแลกเปลี่ยนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเสริมสร้างการเติบโตไปพร้อมกับพื้นที่ GBA
การสร้างท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการเกษตรเขตร้อน เศรษฐกิจทางทะเล การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นๆ ระหว่างจีน-อาเซียน และประเทศตามแนว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เท่านั้น แต่ยังจะช่วยส่งเสริมการหมุนเวียนของปัจจัยการผลิต เช่น เงินทุนและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆให้กับประเทศและเขตพื้นที่ตามแนว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ด้วยเช่นกัน
เมิ่ง กว่างเหวิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเขตเศรษฐกิจเสรี มหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร CAP (China-ASEAN Panorama) ว่า ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน กับพื้นที่ GBA และอาเซียนนั้น จะเป็นไปทั้งในเชิงความร่วมมือและการแข่งขัน โดยเฉพาะในด้านของอุตสาหกรรมการบริการ
ในแง่หนึ่ง ไห่หนานอยู่ใกล้กับเส้นทางการค้าทางทะเลสายหลักของโลก มีศักยภาพเติบโตทั้งทางบกและทางทะเลได้อีกมาก ผนวกกับแรงสนับสนุนจากนโยบายท่าเรือการค้าเสรีที่จะเข้ามาช่วยผลักดันการเดินเรือและการค้าในคลังสินค้า (Entrepot Trade) จึงมีความเป็นไปได้ที่ไห่หนานจะเข้ามาแทนที่บทบาทบางส่วนของฮ่องกงและสิงคโปร์ในด้านการเป็นฮับขนส่งเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางทะเลได้ในอนาคต
นอกจากนี้ เมื่อมองอีกด้านหนึ่ง ปัจจุบันการเปิดกว้างของจีนได้เปลี่ยนจากเดิมที่เน้นอุตสาหกรรมการผลิตมาเป็นอุตสาหกรรมบริการแทน ประกอบกับสถานการณ์ฮ่องกงในขณะนี้ ทำให้จีนจำเป็นต้องแสวงหาแพลตฟอร์มใหม่มาเพื่อขยายการเปิดกว้างด้านอุตสาหกรรมการบริการให้มากขึ้น และไห่หนานก็คือแพลตฟอร์มใหม่นี้ ความร่วมมือระหว่างพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุกกับอาเซียน จะเป็นในด้านอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมบริการเป็นเพียงแค่ส่วนน้อย ขณะที่ท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานจะเน้นไปที่ด้านอุตสาหกรรมการบริการและการค้าบริการ ซึ่งจะมีส่วนเข้ามาเสริมบทบาทกันกับพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก และช่วยเสริมกระชับความร่วมมือกับอาเซียนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานกับอาเซียน ยังครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาร่วมกัน เมิ่ง กว่างเหวิน กล่าวว่า คุณสมบัติโดยเนื้อแท้ของท่าเรือการค้าเสรีคือ การเป็น ‘ท่าเรือ’ หรือ ‘พอร์ต’ ซึ่งเป็นศูนย์รวมการแลกเปลี่ยนถ่ายโอนสินค้า เงินทุน บุคลากร และข้อมูลต่างๆ
การหมุนเวียนของปัจจัยต่างๆเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโอกาสทางการค้า และนำมาซึ่งการพัฒนาเติบโตของท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน ฮ่องกงและสิงคโปร์ล้วนแต่เป็นฮับขนส่งทางทะเลที่สำคัญ หากไห่หนานเรียนรู้ประสบการณ์จากตรงนี้จนพัฒนากลายเป็นฮับการขนส่งเปลี่ยนถ่ายสินค้าได้ ก็จะช่วยต่อยอดการพัฒนาไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆต่อไปได้ด้วย
ขณะที่มุมมองของ เว่ย เจี้ยนกั๋ว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน รองประธานศูนย์แลกเปลี่ยนเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีน (China Center for International Economic Exchanges : CCIEE) เห็นว่า รูปแบบการพัฒนาของท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน จะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีเมืองท่าชายทะเลหลายแห่งได้เป็นอย่างดี
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การสร้างท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน จะเป็นการพัฒนาไปกับพร้อมกันกับกว่างซี ซึ่งเป็นบานหน้าต่างความร่วมมือที่สำคัญสู่อาเซียนของจีน โดยในแผนแม่บทฯ ระบุว่า จะมีการบังคับใช้นโยบายอำนวยความสะดวกเปิดเสรีด้านการขนส่งระดับสูงในไห่หนาน ผลักดันการสร้างจุดเชื่อมโยงด้านการขนส่งทางอากาศและทางทะเล ภายใต้เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (New Western Land-Sea Corridor : NWLSC) ในฐานะจุดเชื่อมโยงและฮับการขนส่งทางทะเลที่สำคัญของเส้นทาง NWLSC
ทั้งนี้ จากข้อมูลของศุลกากรไห่โข่ว เมืองเอกของมณฑลไห่หนาน ระบุว่า ระหว่างเดือนเม.ย. 2561 ถึงเดือนมี.ค. 2563 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกของไห่หนานโดยรวมอยู่ที่ 1.83 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 8.42 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเม.ษ.2559 ถึงเดือนมี.ค.2561 ขณะที่การค้าระหว่างประเทศของไห่หนานกับอาเซียน เพิ่มขึ้น 60.2% อยู่ที่ 5.12 หมื่นล้านหยวน ทำให้อาเซียนกลายเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของไห่หนาน