กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดเสวนา “1 ทศวรรษ เอฟทีเอ อาเซียน-จีน…ก้าวต่อไปของเอกชนไทยในแดนมังกร”ติวเข้มผู้ประกอบการไทยบุกตลาดจีน เน้นการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน-จีน เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยทราบถึงโอกาสในการขยายการค้ากับจีน จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2548 นอกจากนี้ กรมฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐ นักวิชาการ และภาคเอกชน ที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดจีนมาร่วมเสวนาในหลายประเด็น อาทิ ภาพรวมเศรษฐกิจจีนและความเปลี่ยนแปลงภายหลังโควิด-19 การเปิดตลาดและการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน กลยุทธ์การบุกตลาดออนไลน์ในจีน และกิจกรรมการส่งเสริมการส่งออกไปจีน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในจีน
“ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีฉบับดังกล่าว จีนได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าให้ไทยแล้วกว่า 95% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ผัก ผลไม้ เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม สต๊าร์ชมันสำปะหลัง เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และน้ำยางธรรมชาติและสังเคราะห์ เป็นต้น ส่วนไทยได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าให้กับสินค้าจากจีนแล้ว 89% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ผัก ผลไม้ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ส่งผลให้การค้าสองฝ่ายเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน นับตั้งแต่ก่อนมี FTA ในปี 2547 จนถึงปี 2562 ขยายตัวถึง 420% ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ได้ประโยชน์จาก FTA ฉบับนี้ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง ทุเรียน ฝรั่ง มะม่วง มังคุด รถยนต์เอสยูวี และสตาร์ชมันสำปะหลัง” นางอรมน กล่าว
ด้านนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จีนถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น และมีสัญญาณการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศอื่นยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19
การสัมมนาที่จัดขึ้นครั้งนี้มีเรื่องสำคัญที่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบคือ ทิศทางที่กรมจะขับเคลื่อนใน 5 เรื่องสำคัญ เริ่มจากการเร่งสร้างหุ้นส่วนพันธมิตรกับมณฑลไห่หนาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์) ที่เร่งผลักดันความร่วมมือเชิงลึกกับมณฑลสำคัญ โดยกรมฯเห็นว่า รัฐบาลจีนมีนโยบายที่จะผลักดันในมณฑลไห่หนานเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือการค้าเสรีระดับโลก การร่วมเป็นพันธมิตรกับมณฑลไห่หนานเชิงลึกจะทำให้ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร เศรษฐกิจทางทะเล การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นๆ การดำเนินงานครั้งนี้จะได้รับการสนับสนุนจากสมาคมใหหนำแห่งประเทศไทย ที่จะจัดคณะร่วมเดินทางไปเจรจาธุรกิจ คาดว่า ปลายปีหน้าจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม
นอกจากสร้างหุ้นส่วนพันธมิตรทางการค้าแล้ว กรมฯยังคงมอบให้สำนักงานในต่างประเทศจัดกิจกรรมในตลาดเมืองรองในจีน ซึ่งปีนี้ มีกิจกรรมส่งเสริมการขายผลไม้ไทยทั่วจีน ภายใต้กิจกรรม Thai fruits golden months ควบคู่กับการส่งเสริมการขายสินค้าศักยภาพอื่นๆในห้างสรรพสินค้าของเมืองรอง และในช่วงปลายปี ที่จะนำภาคเอกชนและผู้ประกอบการได้ทดลองและแสวงหาโอกาสจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศจีน ซึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะมาถึง มีงานแสดงสินค้านานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของจีน เช่น งานแสดงสินค้านำเข้าจีน (CIIE) ที่นครเซี่ยงไฮ้ และงานแสดงสินค้าอาเซียน-จีน (CAEXPO) ที่นครหนานหนิง ซึ่งทั้งสองงาน กรมได้เตรียมจัดนิทรรศการแสดงศักยภาพสินค้าไทยภายใต้คอนเซ็ป “คิดถึงความปลอดภัยและrefinement คิดถึงประเทศไทย” ด้วย
สำหรับกิจกรรมช่วงวิกฤตโควิด กรมจะผลักดันตลาดสินค้าและบริการยุคนิวนอร์มอล (New normal) โดยเน้นย้ำกลุ่มสินค้าด้านอาหารปลอดภัยและอาหารเพื่อสุขภาพ (Food Safety & Functional Food) กลุ่มสินค้าเกษตร ผ่านกิจกรรม sourcing และจับคู่การค้าออนไลน์ รวมทั้งเจาะตลาดผ่านการค้าออนไลน์ ทั้งแพลตฟอร์มพันธมิตร การเจรจาธุรกิจแบบออนไลน์ รวมทั้งใช้ KOL ในการแนะนำสินค้าไทย
“ช่วงต้นเดือนตุลาคม กรมจะมีการประชุมกับทูตพาณิชย์เพื่อนำแผนข้างต้นไปจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ พร้อมรับมอบนโยบายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” นายสมเด็จกล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับจีน มีมูลค่า 79,440 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 16.46% ของการค้าไทยกับโลก ซึ่งจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 29,169.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่ไทยนำเข้าจากจีน 50,270.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก และเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 51,723.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 0.26% โดยไทยส่งออกไปจีน 19,625.27 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากจีน 32,098.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าระหว่างอาเซียน – จีน มีมูลค่า 641,470 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.1% จากปี 2561 โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนเป็นเวลา 10 ปีติดต่อกัน ขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน เป็นครั้งแรกในปี 2563