ผลพวงจากการย้ายฐานอุตสาหกรรมระลอกใหม่ ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นเข้ามาทำงานในไทยลดลง สวนทางกับตัวเลขชาวจีนที่เพิ่มขึ้น จากการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีน
ในอดีตหลายปีที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นถือเป็นชาวต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในไทยจำนวนมากที่สุดมาโดยตลอด คิดเป็นสัดส่วน 18% ( จำนวน28,560 คน ณ ไตรมาส 3 ปี 2563) โดยชาวญี่ปุ่นเริ่มหลั่งไหลเข้ามาทำงานในไทย นับตั้งแต่การพัฒนาอุตสาหกรรม ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 จนถึงช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียในปี 2540 จนทำให้ไทยมีจำนวนประชากรชาวญี่ปุ่นนอกประเทศญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 4
อย่างไรก็ตาม ภาพนี้กำลังเปลี่ยนไป จากการเปิดเผยของ ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก พบว่า จำนวนชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในไทยกำลังลดลง เนื่องจากในอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงมานาน คนในท้องถิ่นเริ่มมีความสามารถในการทำงานแทนชาวต่างชาติที่มีค่าแรงค่อนข้างสูง รวมถึงการย้ายถิ่นฐานของโรงงานผลิตของญี่ปุ่นไปยังเวียดนามและกัมพูชา
จากข้อมูลของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ระหว่างปี 2558 – ไตรมาส 3 ปี 2563 ชาวฟิลิปปินส์และชาวจีนเป็นชาวต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 38% (จาก 13,146 คน เป็น 18,472 คน) และ 31% (จาก 18,812 คน เป็น 25,811 คน) ตามลำดับสวนทางกับจำนวนชาวญี่ปุ่นที่ลดลงถึง 22% จาก 36,666 คนในปี 2558 เหลือ 28,560 คน ในไตรมาส 3 ปี 2563 ซึ่งเป็นสถิติต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2555
- รัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย
รัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ชาวจีนในไทยส่วนใหญ่ทำงานในภาคการผลิต เนื่องจากบริษัทเอเชียรายใหญ่ยังคงย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอย่างต่อเนื่องเพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีของสหรัฐฯสำหรับสินค้าที่ผลิตในจีน รวมถึงการที่กลุ่มประเทศอาเซียนนำเสนอตัวเองในฐานะฐานการผลิตใหม่
ด้านกลุ่มชาวต่างชาติที่เติบโตมากที่สุดเป็นอันดับสองซึ่งก็คือชาวฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่จะทำงานเป็นครูในโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนสองภาษาในกรุงเทพฯ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษและมีค่าแรงที่ต่ำกว่าชาวยุโรป อเมริกัน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
การขยายตัวของชาวจีนและชาวฟิลิปปินส์ที่มาทำงานในไทยดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของย่านที่เป็นศูนย์รวมชาวต่างชาติในไทย โดยพื้นที่ส่วนขยายของย่านใจกลางกรุงเทพฯ เช่น พระราม 9 และรัชดาภิเษก ได้กลายเป็นศูนย์รวมของชาวจีน เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างร้านอาหารจีน ร้านค้า และรถไฟฟ้าใต้ดิน
ขณะที่อ่อนนุชเป็นย่านที่ชาวฟิลิปปินส์นิยมพักอาศัย เนื่องจากมีค่าเช่าต่ำกว่าย่านสุขุมวิทตอนต้นและตอนกลาง แต่ยังคงสามารถเดินทางได้สะดวกด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสเช่นกัน
————————————————–