ไทย-จีน ลงนาม 5 หมื่นล้าน เดินหน้ารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา กำหนดแล้วเสร็จปี 2568

โครงการถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เดินหน้าอีกขั้น ล่าสุด วันนี้ 28 ต.ค. เวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) วงเงิน  50,633 ล้านบาท

            ภายในพิธีลงนามดังกล่าว มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายหยาง ซิน อุปทูต รักษาการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ผู้บริหารจากกระทรวงคมนาคม บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY International Co., Ltd.) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (China Railway Design Corporation) เข้าร่วม

            ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 

            นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการความร่วมมือฯ นี้ เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ และภูมิภาค โดยเฉพาะหัวเมืองหลักตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะสามารถต่อยอดและพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค

            เส้นทางนี้เปรียบเสมือนสายใยเชื่อมโยงไทยกับจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นระหว่างกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงทางคมนาคม ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น

            การลงนามนี้เป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาเทคโนโลยีระหว่างกัน เชื่อมั่นว่าไทยจะนำองค์ความรู้มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศ และภูมิภาคต่อไป

        

          ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอบคุณกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ และบริษัทคู่สัญญาของโครงการ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ที่ล้วนเป็น “กำลังสำคัญ” ในการผลักดันโครงการให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง โดยสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เปรียบดังคำกล่าวที่ว่า “ถง ซิน เสีย ลี่, ซื่อ ซื่อ ซุ่น ลี่” (同心协力,事事顺利 ) หมายความว่า “น้ำหนึ่งใจเดียว ทุกเรื่องราบรื่น”

  • คาดโครงการแล้วเสร็จปี 2568 หนุนไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งของอาเซียน

          ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนครั้งนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการลงนามบันทึกความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีน เมื่อปี 2557 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา เมื่อวันที่  11 ก.ค. 2560 และนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมในพิธีเริ่มต้นการก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 

          โครงการนี้เมื่อแล้วเสร็จในปี 2568 จะเป็นการยกระดับมาตรฐานระถไฟไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคนของไทยในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน สร้างศักยภาพใหม่และโอกาสทางการค้าการลงทุนการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรบอเส้นทาง

           นอกจากนี้ ยังจะทำให้บุคลากรของประเทศไทย ได้รับความรู้ และเทคโนโลยีระบบรางจากจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต

  • ภาพรวมความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็งสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

            นายนิรุฒ มณีพันธ์   ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า  โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา  เป็นอีกโครงการสำคัญที่รฟท.ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดำเนินการพัฒนาโครงการมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน โดยได้ดำเนินงานก่อสร้างโยธาแล้วเสร็จใน 1 สัญญา คือ  สัญญา 1-1  ช่วงกลางดง-ปางอโศก อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 1 สัญญา คือ สัญญา   2 -1  ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก โดยมีความคืบหน้าร้อยละ 42

            โดยอยู่ระหว่างการตรียมลงนามในสัญญาก่อสร้าง 9 สัญญา  และอยู่ระหว่างขั้นตอนการประกาศผลการประกวดราคาอีก 2 สัญญา  และอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาอีก 1 สัญญา ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง  253 กิโลเมตร และสถานีรถไฟความเร็วสูง 6 สถานี ได้แก่  สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง  สถานีอยุธยา  สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา

      

           สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพมหานคร – หนองคาย แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา มีแนวเส้นทางโครงการผ่าน 5 จังหวัด มี 6 สถานี   คือ สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา ซึ่ง 4 สถานีหลังเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ก่อสร้างใหม่ในโครงการนี้ รวมระยะทาง 253 กิโลเมตร

            โดยแบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา คือสัญญา 1-1 ช่วงกลางดง – ปางอโศก อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 สัญญา คือสัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก และเตรียมลงนามในสัญญาก่อสร้างอีก 9 สัญญา มีกรอบวงเงินรวมของโครงการ 179,412.21 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยรับภาระการลงทุนโครงการทั้งหมด และดำเนินการก่อสร้างงานโยธา

            ส่วนฝ่ายจีนรับผิดชอบออกแบบ และติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าเครื่องกล ระบบควบคุมการเดินรถ จัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูง และฝึกอบรมบุคลากร และระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 354.5 กิโลเมตร เชื่อมไทย-ลาว-จีน อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโดยฝ่ายไทยทั้งหมด

            ทั้งนี้ โครงการระยะที่ 1 รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 และ 30 พฤศจิกายน 2560 ส่วนรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

            นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายในอนาคตเมื่อมีสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางแล้ว จะทำให้ประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญระบบรางมากขึ้น มีองค์ความรู้ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้คนไทยมีความสามารถในการออกแบบ ผลิตชิ้นส่วน ประกอบ และซ่อมบำรุงระบบราง เกิดงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมระบบรางของไทยเทียบเท่าชั้นมาตรฐานระดับสากล อันนำไปสู่การใช้วัสดุภายในประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางไทย คิดเป็นมูลค่าเพิ่มในประเทศ 21,600 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานอีกกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาล

 

———————————————–

Your email address will not be published. Required fields are marked *