หลังจากจีนได้เริ่มทดสอบโครงการนำร่องแจกจ่ายอั่งเปาหยวนดิจิทัลให้กับผู้โชคดี 50,000 คนในเมืองเซินเจิ้น ซึ่งถือเป็นการทดลองเงินหยวนดิจิทัลในสาธารณะครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ในช่วงเดือนต.ค.ที่ผ่านมา
รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้สะท้อนมุมมองต่อผลกระทบด้านเศรษฐกิจไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
นอกจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองขั้วอำนาจ สหรัฐฯ – จีน จะเป็นที่จับตามองแล้ว เรื่องการแข่งขันกันปฏิวัติระบบการเงินของโลกด้วยเทคโนโลยีก็กำลังดุเดือดเช่นกัน
หลังจากที่ทาง Facebook ออกมาประกาศพัฒนาเงินสกุลเงินดิจิทัล “Libra” เมื่อเดือนมิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ทางจีนเองมองเห็นว่าสกุลเงินดิจิทัลจากสหรัฐฯ จะยิ่งทำให้สกุลเงินดอลลาร์มีอิทธิพลในโลกมากยิ่งขึ้น เพราะจำนวนผู้ใช้ Facebook ทั่วโลกมีประมาณ 1,700 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรจีน อาจส่งผลให้แผนการผลักดันสกุลเงินหยวนขึ้นเป็นสกุลเงินสากลหลักของโลกสะดุดลง
ธนาคารจีนเล็งเห็นว่าสกุลเงินดิจิทัลกำลังจะเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศในอนาคตและหากจีนพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลได้สำเร็จและพัฒนาจนกลายเป็นสกุลเงินกลางของโลกในอนาคต จะส่งผลให้จีนกลายเป็นผู้กำกับดูแลและควบคุมกฎระเบียบและนโยบายของสกุลเงินดิจิทัลซึ่งจะเอื้ออำนวยความได้เปรียบการการค้าระหว่างประเทศให้กับจีนในอนาคต
ดังนั้น ในระยะนี้จะเห็นว่าทางจีนกำลังใช้ความพยามทั้ง 2 ด้าน คือ 1) การพัฒนาเงินดิจิทัลหยวน และ 2) การผลักดันให้เงินหยวนขึ้นเป็นเงินสกุลหลักของโลก
แม้การระบาดของ COVID-19 ทำให้การลงทุนทางการเงินของโลกลดลง ตลาดเงินตราต่างประเทศและตลาดทุนของจีนยังคงรับมือได้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 จีนยังคงได้ดุลการค้า และในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจเช่นนี้ที่ตลาดการเงินต่างประเทศกำลังตึงตัว แต่จีนยังคงแผ่ขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ และเพิ่มการให้กู้ยืมแก่ประเทศต่างๆ เป็นการเพิ่มสภาพคล่องเงินหยวนแก่ตลาดโลก ทำให้เงินหยวนมีบทบาทมากขึ้นในการลงทุนข้ามแดน และส่งผลต่อการพัฒนาเงินหยวนให้เป็นเงินสกุลหลักของโลกมากขึ้น โดยสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศแห่งชาติจีน (The State Administration of Foreign Exchange) กล่าวว่า การใช้เงินหยวนในการชำระเงินระหว่างประเทศมีสัดส่วน 38% ของสกุลเงินทั้งหมด ณ สิ้นเดือนมี.ค. ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลมา
ภาครัฐและเอกชนไทยควรติดตามความเคลื่อนไหวของการพัฒนาเงินหยวนดิจิทัลของจีน เพราะเป็นยุทธศาสตร์ด้านการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญของรัฐบาลจีน และมีแนวโน้มที่จีนจะนำมาใช้กับโครงการเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative) ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ในโครงการด้วย ควรมีการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการค้าระหว่างประเทศไทย-จีนหากมีการใช้หยวนดิจิทัล ศึกษาโครงการความร่วมมือเงินดิจิทัลระหว่างประเทศ รวมถึงภาคธุรกิจ/การท่องเที่ยวควรมีการเตรียมแผนการพัฒนารองรับเงินหยวนดิจิตอลในอนาคต หากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง และสถานการณ์การท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง