อวสาน‘เงินกระดาษ’และอนาคตอันใกล้ของ‘เงินดิจิทัล’อาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด ! เมื่อจีนเตรียมรับรอง‘เงินหยวนดิจิทัล’อย่างเป็นทางการ ผ่านการนำเสนอร่างกฎหมายรับรองระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์(Digital Currency Electronic Payment System) โดยธนาคารกลางแห่งประเทศจีน(People’s Bank of China หรือ PBOC)
นั่นหมายความว่า เงินหยวนดิจิทัลกำลังจะมีสถานะทางกฎหมายในจีน และอีกไม่นานเกินรอ ผู้คนทั่วไปในจีนจะสามารถใช้เงินหยวนดิจิทัลแทนการใช้ธนบัตรและเหรียญในวงกว้าง
ก่อนหน้านี้ในเดือนเดียวกันช่วงต.ค.ผ่านมา จีนได้เริ่มทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลจริงในสาธารณะครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ผ่านโครงการจับรางวัลแจกอั่งเปาในรูปแบบหยวนดิจิทัลมูลค่ารวม 10 ล้านหยวนในเมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 4 ของจีน และเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของจีนตอนใต้
โครงการทดลองใช้หยวนดิจิทัลดังกล่าว หน่วยงานรัฐจะสุ่มจับรางวัลให้กับผู้โชคดี 50,000 คน ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมลงทะเบียนทั้งหมดถึง 1.9 ล้านคน โดยผู้ได้รับรางวัลจะต้องดาวน์โหลด Digital Renminbi App ของทางการเพื่อรับเงินหยวนดิจิทัลคนละ 200 หยวน ซึ่งสามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยด้วยการสแกนมือถือได้ตามร้านค้าต่างๆกว่า 3,000 แห่งในเขตหลัวหู (Luohu) เมืองเซินเจิ้น ซึ่งมีตั้งแต่ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านขายยา ร้านหนังสือ ไปจนถึงสถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ


ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


‘หยวนดิจิทัล’คืออะไร ?
หยวนดิจิทัล หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) คือ เงินหยวนเดิมที่กลายร่างจากเงินกระดาษมาอยู่ในรูปแบบของเงินอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งออกโดยธนาคารกลางของจีน
นั่นคือแทนที่จีนจะพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ ก็เปลี่ยนมาเป็นการออกเงินดิจิทัลซึ่งมีมูลค่าผูกกับค่าเงินหยวน หรือเหรินมินปี้ (Renminbi : RMB) ในอัตรา 1:1 โดยทุกการออกเงินหยวนดิจิทัลจะต้องมีการตั้งสำรองเงินสดเก็บไว้ในบัญชีธนาคารของจีนในจำนวนเท่าๆกัน
หยวนดิจิทัลที่ถูกควบคุมโดยธนาคารกลางของจีน และมีมูลค่าเทียบเท่ากับเงินหยวนธนบัตร จึงไม่ใช่เงินสกุลใหม่ตามที่หลายคนเข้าใจ และไม่ต้องกลัวว่ามูลค่าจะเหวี่ยงขึ้นลงแรงๆ แตกต่างจาก Libra สกุลเงินดิจิทัลของ Facebook ที่ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัทเอกชน และเงินดิจิทัลแบบกระจายศูนย์อย่าง Bitcoin ซึ่งมูลค่าไม่คงที่
ทั้งนี้ หยวนดิจิทัลถือเป็นนวัตกรรมการเงินที่แบงก์ชาติจีนพัฒนาขึ้นมาใช้เพื่อทดแทนเงินสด ไม่ได้ทำมาแทนที่กระเป๋าเงินดิจิทัลอย่าง Alipay หรือ WeChat Pay แต่จะถูกนำมาใช้ร่วมกันรวมไปถึงธนาคารต่างๆด้วย
จุดเด่นของหยวนดิจิทัลยังสามารถใช้จ่ายในแบบออฟไลน์ได้ด้วยโดยไม่ต้องพึ่งสัญญาณอินเตอร์เน็ต ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระยะสั้นที่เรียกว่า NFC (Near Field Communication) ทำให้สามารถทำธุรกรรมได้ง่ายๆเพียงแค่เอามือถือมาแตะกัน
อาวุธเศรษฐกิจตัวใหม่ของจีน
TAP Magazine สัมภาษณ์ ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน อดีตอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงปักกิ่ง ร่วมถอดรหัส “หยวนดิจิทัล” อาวุธเศรษฐกิจตัวใหม่จีน ซึ่งมีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการคิดใหญ่มองไกลของจีน ซึ่งต้องมองย้อนกลับตั้งแต่จุดกำเนิดของหยวนดิจิทัล รัฐบาลโดยแบงก์ชาติจีนได้เริ่มศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2014 และมีการตั้งสถาบันวิจัยเงินดิจิทัล (Digital Currency Research Lab) ในปี 2017 พร้อมทั้งตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ สถาบันการเงิน นักวิชาการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ โดยมี‘มู่ ฉางชุน’ ผู้บริหารรุ่นใหม่อนาคตไกลจากแบงก์ชาติจีน นั่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ
ท่ามกลางกระแสเงินดิจิทัลทั่วโลกที่ถาโถมมาแรง และการก้าวสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งคนจีนถึงกว่า 90% หันมาใช้การชำระเงินออนไลน์แทนเงินสด และนิยมใช้ผ่านมือถือมากที่สุด โดยมี Alipay และ WeChatPay กุมบทบาทครองตลาดในสัดส่วนเกือบ 95% ของมูลค่าการชำระเงินออนไลน์โดยรวมของจีน
เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลจีนมองไกลถึงประเด็นความมั่นคงด้านการเงินที่อาจจะทำให้สุ่มเสี่ยงที่รัฐบาลไม่เห็นข้อมูลการเคลื่อนไหวของเงินดิจิทัล การที่ธนาคารกลางของจีนเป็นผู้พัฒนาหยวนดิจิทัลขึ้นเองจึงช่วยปิดความเสี่ยงและส่งผลดีในหลายด้านๆ เพราะทำให้รัฐบาลสามารถเข้าถึงและติดตามข้อมูลการเคลื่อนไหวของเงินในระบบเศรษฐกิจและออกนโยบายต่างๆได้อย่างทันท่วงที ทุกอย่างจะสามารถควบคุมและตรวจสอบได้ง่าย รวมถึงเรื่องการทุจริตและฟอกเงิน
ดร.ไพจิตร ยังวิเคราะห์ด้วยว่า นอกจากประเด็นเรื่องควบคุมการเคลื่อนไหวของเงินแล้ว อีกประเด็นซึ่งถือเป็นการมองไกลของจีน คือ จีนมีนโยบายใหญ่ในการผลักดันเงินหยวนสู่สากล (RMB Internationalization) โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การเพิ่มอุปสงค์ของเงินหยวนเพื่อให้เกิดการใช้เงินในวงกว้าง และก้าวขึ้นมาเป็นเงินสกุลหลักของโลก การผลักดันหยวนดิจิทัลจึงเข้ามาช่วยมีส่วนเสริมเพื่อทำให้เกิดการขยายการใช้เงินหยวนมากขึ้น โดยมีผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นเหมือน“สปริงบอร์ด”ที่กระตุ้นให้เกิดการแพร่หลายของเงินหยวนดิจิทัลในระดับโลก
‘หยวนดิจิทัล’ก้าวเร็วและไกลกว่าที่คิด
ความพยายามในผลักดันการใช้จ่าย‘เงินดิจิทัล’ให้เกิดขึ้นจริงในจีนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรัฐบาลจีนได้ประกาศโครงการนำร่องทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยในระยะแรกได้เริ่มทดลองใน 4 เมือง ได้แก่ ‘เซินเจิ้น’ทางตอนใต้ของจีน ‘ซูโจว’ทางซีกตะวันออก(ใกล้กับเซี่ยงไฮ้) ‘เฉิงตู’ทางซีกตะวันตก และเขตเมืองใหม่‘สงอัน’ทางตอนเหนือ(ใกล้กรุงปักกิ่ง)
“ ระยะแรก จีนเริ่มทดลองใช้หยวนดิจิทัลใน 4 เมืองซึ่งถือเป็นตัวแทนจาก 4 ภูมิภาค โดยดำเนินการค่อยเป็นค่อยไปแบบ “เดินข้ามลำธาร ใช้เท้าสัมผัสหิน” เริ่มจากธุรกรรมพื้นฐานง่ายๆในร้านค้าต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารแฟรนไชส์ต่างชาติ อาทิ สตาร์บัคส์ แม็คโดนัลด์ และ Subway มาเข้าร่วมโครงการนำร่องด้วย”
ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลเมืองซูโจวได้ทดลองจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการด้านการเดินทางแก่พนักงานของรัฐในรูปเงินหยวนดิจิทัล ซึ่งเท่ากับทำให้คนเหล่านั้นต้องทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลไปโดยปริยาย ส่วนการทดลองใช้ในเมืองสงอันก็มุ่งเน้นไปที่การค้าปลีกและบริการอาหารนอกสถานที่
จากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลระยะแรกจะกินระยะเวลา 6-12 เดือน แต่ผ่านไปเพียงแค่ 4 เดือน ในวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จีนก็ได้ประกาศเดินหน้าแผนการทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลระยะที่ 2 โดยขยายไปในหลายพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจด้านซีกตะวันออกของจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ทดสอบที่มีประชากร 400 ล้านคนหรือครอบคลุมประมาณ 29% ของประชากรทั้งประเทศ อันได้แก่
- พื้นที่ปากแม่น้ำไข่มุก หรือ Great Bay Area (GBA)ซึ่งครอบคลุม “พื้นที่ท้องไก่”แถบมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า
- พื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งเป็น “พื้นที่อกไก่”แถบนครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง และอันฮุย ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงสุดของจีน พื้นที่นี้ยังครอบคลุมถึงเมืองหางโจวที่จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ในปี 2022 อีกด้วย
- สามเหลี่ยมจิงจินจี้ (Jing-Jin-Ji)ใน “พื้นที่คอไก่” ครอบคลุมกรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และมณฑลเหอเป่ย ซึ่งครอบคลุมเมืองจางเจียโข่ว ซึ่งจะเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022
“ การผลักดันหยวนดิจิทัลในจีนก้าวไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ การขยายการทดลองใช้เงินหยวนเพิ่มเติมใน 3 พื้นที่สำคัญครั้งนี้ มีนัยสำคัญทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และกลุ่มประชากรที่ขยายวงกว้างมากขึ้น มีการขยายช่องทางจุดชำระเงิน เพิ่มจำนวนผู้ใช้ และปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น แม้แต่ตัวแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาเชื่อมโยงก็อาจจะขยายเพิ่มมากขึ้น” ดร.ไพจิตร ประเมิน
ถัดมาในเดือนต.ค.ของปีนี้ จีนยังได้มีการทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา จากการจัดกิจกรรมแจกอั่งเปาในรูปเงินหยวนดิจิทัลที่สร้างความฮือฮาในช่วงไม่กี่วันหลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางลงใต้เยือนเมืองเฉาโจว มณฑลกวางตุ้ง เพื่อร่วมฉลอง “ครบรอบ 40 ปี การก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น”
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของจีนยังได้เตรียมนำเสนอร่างกฎหมายรับรองระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์(Digital Currency Electronic Payment System) ซึ่งจะทำให้เงินหยวนดิจิทัลมีสถานะทางกฎหมาย ในร่างกฎหมายนี้ครอบคลุมถึงประเด็นการห้ามไม่ให้ผู้ใดจัดทำเงินดิจิทัลรูปแบบอื่นในจีนเพื่อใช้แทนเงินหยวน ซึ่งถือเป็นการมุ่งเป้าไปที่การสกัดกั้นเงินดิจิทัล Libra ของ Facebook รวมถึงเงินสกุลดิจิทัลอื่นๆ ไม่ให้มีที่ยืนให้จีน


ดร.ไพจิตร กล่าวว่า การเดินหน้ากฎหมายเพื่อรับรองสถานะของเงินหยวนดิจิทัล ถือเป็นการก้าวไปอีกขั้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชน จุดนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าการทดลองใช้หยวนดิจิทัลที่ผ่านมาเดินไปได้ด้วยดี และอาจจะขยับก้าวไปสู่ระยะที่ 3 ได้เร็วขึ้น
ผมมองว่าในช่วง 1 ปีครึ่ง – 2 ปีจากนี้ จะเป็นช่วงที่จีนเร่งพัฒนาการใช้หยวนดิจิทัลในประเทศให้มีเสถียรภาพ โดยธงสำคัญที่จีนมองไว้คือปี 2022 ซึ่งจะเป็นปีที่จีนจัดงานใหญ่ระดับอินเตอร์ 2 งาน คือ งานโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งในช่วงปลายปี และงานเอเชี่ยนเกมส์ซึ่งจะจัดขึ้นกลางปี คาดว่าจีนจะใช้โอกาสนี้ประกาศให้โลกได้รู้จักกับหยวนดิจิทัลและเปิดให้ต่างชาติได้มีโอกาสทดลองใช้
หลังจากนั้นในปี 2023 มีโอกาสอย่างมากที่หยวนดิจิทัลจะเริ่มขยายวงสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบตามแนวเส้นทางสายไหม ซึ่งอาเซียนจะเป็นกลุ่มเป้าหมายในเชิงภูมิศาสตร์อันดับต้นๆ
สำหรับประเทศไทยซึ่งมีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวปีละนับสิบล้าน ในอนาคตหลังหมด COVID-19 ในอีก2-3 ปีข้างหน้าก็มีโอกาสที่หยวนดิจิทัลจะขยายสู่ไทยผ่านการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยว เหมือนๆกับร้านค้าต่างๆมีการปรับตัวเปิดรับ Alipay และ WeChat Pay
อนาคตอันใกล้ของการมาถึงของ “หยวนดิจิทัล” จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะนี่อาจจะเป็น New Normal ของโลกการเงินที่สร้างแรงสั่นสะเทือนในทุกระดับ
ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. JD.com ได้โพสต์ในบัญชีวีแชทอย่างเป็นทางการระบุว่า JD Digits ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทคในเครือของ JD.com พร้อมรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการบางรายการบนร้านค้าออนไลน์ของบริษัทด้วยสกุลเงินหยวนดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางจีน ซึ่งนับเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายแรกของจีนที่รับชำระด้วยสกุลเงินดิจิทัลนี้ ความเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทดลองแจกเงินหยวนดิจิทัลของรัฐบาลจีนให้กับประชาชนในเมืองซูโจว ภายใต้แคมเปญสุ่มแจกเงินอั่งเปาเงินในรูปเงินหยวนดิจิทัลมูลค่า 200 หยวน ให้กับผู้โชคดีจำนวน 1 แสนราย