นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อรัฐบาล 15 ประเทศ ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน (ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และอีก 5 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ร่วมกันลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือที่เรียกย่อๆว่า RCEP เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งนับเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 37 ที่ผ่านมา โดยหลายฝ่ายคาดว่า RCEP จะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคหลังการแพร่ระบาด COVID-19
ขณะที่รัฐบาลจีนได้กล่าวยกย่องข้อตกลงนี้ว่าถือเป็นชัยชนะของการค้าเสรี และความร่วมมือของชาวเอเชีย-แปซิฟิก โดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน กล่าวว่า RCEP ไม่ใช่เพียงแค่ความสำเร็จครั้งใหญ่ของความร่วมมือทางการค้าในเอเชียตะวันออก แต่ยังถือเป็นชัยชนะของความร่วมมือแบบพหุภาคี และการค้าเสรี
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวว่า RCEP นับเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมเชื่อว่าการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกจะเสริมสร้างให้ภูมิภาค RCEP มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการค้าการลงทุนจากทั่วโลก ทำให้ประเทศสมาชิกมีความสามารถและความยืดหยุ่นในการรับมือกับปัญหาความท้าทายทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นในอนาคต
ขณะที่ เหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ซึ่งทำหน้าที่ประธานอาเซียน กล่าวว่า ข้อสรุปของการเจรจาความตกลง RCEP จะส่งสัญญาณที่แข็งแกร่งที่สะท้อนความเป็นผู้นำของอาเซียนในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี ช่วยก่อร่างโครงสร้างการค้าใหม่ในภูมิภาค เอื้อประโยชน์ทางการค้าอย่างยั่งยืน พัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงักและสนับสนุนการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาด COVID-19
เจรจา 8 ปีสู่การลงนาม
จุดเริ่มต้นของ RCEP เกิดจากอาเซียนเห็นโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มเติมกับคู่เจรจาในเอเชีย-แปซิฟิกที่อาเซียนมีความตกลงการค้าเสรีอยู่แล้ว เพื่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น
RCEP จึงกลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการมุ่งสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง (ASEAN centrality) ในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยนับตั้งแต่การรวมกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน+6 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) เมื่อปี 2547-2551อาเซียนและประเทศคู่เจรจาได้ร่วมกันศึกษาประเด็นด้านเทคนิคภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและคู่เจรจาเมื่อปี 2552-2553 ก่อนที่จะเริ่มใช้คำว่า RCEP ในปี 2554 และผ่านการเจรจาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2556 ต่อเนื่องถึง 8 ปีจนนำไปสู่การลงนาม RCEP ในปี 2563
แม้ล่าสุดอินเดียจะไม่ได้ร่วมอยู่ใน 15 ประเทศที่ร่วมลงนาม RCEP แต่ข้อตกลงนี้ก็ยังเป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจที่มี GDP ประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งโลก และในแง่ขนาดตลาดผู้บริโภคที่มีจำนวนประชากรรวมกันเกือบ 2,252 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลก
ที่สำคัญ RCEP ยังนับเป็นเขตการค้าเสรีแรกที่ “3 ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียบูรพา” ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ลงนามร่วมกัน นอกจากนี้ RCEP ยังเป็นข้อตกลงการค้าสมัยใหม่ที่ครอบคลุมมากกว่าแค่การลด ละ เลิก ภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้า หากแต่ยังมีการสร้างความร่วมมือในมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า ประเด็นเกี่ยวกับ SMEs และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
ทั้งนี้ ในส่วนของการค้านั้น ในเบื้องต้นสมาชิก RCEP ตกลงจะเปิดเสรีสินค้าในสัดส่วน 80% ของสินค้าที่ตกลงกันว่าจะลดภาษีนำเข้า โดยในจำนวนนี้สัดส่วน 65% จะลดภาษีเป็น 0% ทันที ส่วนอีก 15% จะลดเป็น 0% ใน 10-15 ปี สำหรับ 20% ที่เหลือเป็นสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง แม้หลายประเทศยังมีกำแพงภาษีสูง แต่ประเทศสมาชิก RCEP ก็จะต้องทยอยลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าให้เป็นศูนย์หรือน้อยที่สุด
ขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิก RCEP ยังคงให้ความสำคัญกับอินเดีย โดยเปิดโอกาสให้อินเดียสามารถกลับมาเข้าร่วมความตกลงได้เมื่อใดที่ปัจจัยในประเทศมีความพร้อม ในฐานะที่อินเดียเป็นสมาชิกดั้งเดิมและมีบทบาทสำคัญในการร่วมเจรจา RCEP มาตั้งแต่ต้น
แนะไทยเร่งเตรียมพร้อมปรับตัวรับมือ RCEP
ก้าวต่อไปของความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อมี 6 จาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ให้สัตยาบัน และ 3 จาก 5 ประเทศคู่เจรจาของอาเซียนให้สัตยาบัน โดยคาดการณ์กันว่า RCEP จะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ในราวกลางปี 2564 โดยในส่วนประเทศไทยขั้นตอนขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2563 แล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมเสนอเรื่องให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบ
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มั่นใจว่า RCEP จะทำให้ไทยได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งเรื่องการส่งออกสินค้า บริการ และการลงทุน โดยเฉพาะสินค้าด้านเกษตรที่ไทยมีจุดแข็งอยู่แล้วและเป็นโอกาสที่จะบุกขยายตลาดใน 14 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพืชผลทางการเกษตร มันสำปะหลัง แป้งมัน ยางพารา สินค้าประมง ตลอดจนกลุ่มสินค้าอาหารจะเป็นอีกหมวดสำคัญที่ได้รับประโยชน์เต็มที่ซึ่งช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการผลักดันอาหารไทยเป็นอาหารโลก และทำให้ไทยก้าวสู่เป็นผู้นำการส่งออกอาหารอันดับต้นๆ และอันดับหนึ่งของโลกได้ จากปัจจุบันที่อยู่อันดับ 11 ของโลก
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอุตสาหกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์ในการขยายตลาดจาก RCEP ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า กระดาษ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานต์ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ รวมถึงภาคบริการและการลงทุน ทั้งด้านการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ไทยมีศักยภาพในการเป็นเมดิคัลฮับ รวมถึงธุรกิจคอนเทนต์อย่างภาพยนตร์และแอนิเมชั่น อีกทั้งความตกลงนี้ยังก่อให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างสมาชิก ซึ่งยังไม่มีในความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน+1 มาก่อน เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า การส่งเสริมและคุ้มครอง SMEs และความร่วมมือในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
“ ถึงเวลาที่ภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเร่งเตรียมตัวและปรับตัวเพื่อรองรับความตกลงใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นจากการลงนาม RCEP ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาอีกไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปีเพื่อเตรียมตัวก่อนที่การบังคับใช้จะมาถึง ก่อนที่จะเสียโอกาสในการแข่งขัน โดยหลังจากนี้ทั้ง 15 ประเทศ ต้องทำ 2 เรื่อง คือ ทำอย่างไรให้อินเดียมีโอกาสกลับเข้ามาร่วมใน RCEP ในอนาคต หลังจากมีการพักเจรจาชั่วคราว และสมาชิกทุกประเทศต้องเร่งให้สัตยาบัน เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้” รองนายกฯจุรินทร์ กล่าว
ขณะที่ในมุมมองของ ประธาน จิวจินดา หัวหน้าส่วนวิจัยนโยบายรัฐและปัจจัยทางธุรกิจ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มองว่าความตกลง RCEP จะทำให้ชาติอาเซียนมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าโลก และผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทนำในเวทีโลกได้ อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มีความเห็นว่า
- ความตกลง RCEP จะทำให้เกิดการค้า 2 ทิศทาง กล่าวคือ ไทยได้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดของประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP มากขึ้น RCEP ช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกโดยเฉพาะผลเชิงบวกใน 6 สาขาอุตสาหกรรม คือ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อาทิ อาหาร อาหารแปรรูป ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขณะเดียวกันชาติสมาชิกก็สามารถส่งสินค้ามาไทยเพิ่มขึ้นด้วย อาทิ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน จากการลดภาษีระหว่างกันลงให้ได้มากที่สุด รวมถึงการลดอุปสรรคทางการค้าสินค้า บริการและการลงทุน
- จากการที่ประเทศไทยมีพรมแดนและการคมนาคมเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV ที่กำลังเติบโต ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนของไทยไปยังกลุ่ม CLMV ซึ่งอยู่ใน RCEP ให้มากขึ้น
- ไทยเป็นจุดศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ จึงเป็นโอกาสสำคัญเมื่อเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเพิ่มสูงต่อเศรษฐกิจ (New S-curve) ซึ่งจะช่วยให้สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น
- เมื่อเกิดเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่อย่าง RCEP ย่อมนำมาซึ่งโอกาสและการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งด้านฝีมือแรงงานและสินค้าที่มีราคาถูกจะทะลักเข้ามาทั้งในช่องทางการค้าปกติและจากการค้า E-Commerce ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และเกษตรกรไทยได้
โดยสรุป ในเวลานี้นับว่าไทยอยู่ในจังหวะที่ดีที่ได้มีส่วนร่วมใน RCEP เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากจุดเด่นของ RCEP ที่เอื้อให้ห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาคเอเชียมีการกระชับกันอย่างเหนียวแน่น ช่วยทำให้ไทยยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีอยู่ไว้ได้ด้วยการเป็นประเทศน่าลงทุนเพื่อการผลิตและส่งออกไปยังประเทศฝั่งเอเชียเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ไทยยังขาดความน่าสนใจในการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในฝั่งของเศรษฐกิจโลกตะวันตก ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะข้างหน้ากำลังถูกสั่นคลอนจากการที่คู่แข่งของไทยอย่างเวียดนามร่วมเป็นสมาชิกทั้งใน RCEP และยังเป็นสมาชิกในกรอบการค้าเสรีอื่นๆที่ไทยไม่มี โดยเฉพาะความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งต้องจับตาดูท่าทีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดิน จะหันมาเดินเกมนำพาสหรัฐฯกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความตกลงนี้หรือไม่ ?
ขณะที่ล่าสุด ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนได้สร้างความฮือฮาด้วยการประกาศบนเวทีประชุมสุดยอด APEC ที่ผ่านมาว่าจีนพร้อมจะพิจารณาเข้าร่วม CPTPP ด้วยเช่นกัน หลังจากที่เพิ่งลงนาม RCEP ผ่านไปได้ไม่นาน จึงนับเป็นสัญญาณที่ต้องจับตาว่า เกมการเมืองระหว่าง 2 มหาอำนาจอาจจะมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ และนับเป็นความท้าทายที่ไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
RCEP โอกาสและความท้าทายต่อไทย
- โอกาส VS การแข่งขันที่สูงขึ้นของสินค้าของไทย
สินค้าของไทยมีโอกาสเข้าสู่ตลาดและสามารถแข่งขันได้มากขึ้น โดยสินค้าของไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับ FTA เดิมที่ไทยมีอยู่เนื่องจากมีการเปิดตลาดยกเว้นภาษีใน RCEP เช่น สินค้าประมง แป้งมันสําปะหลัง สับปะรด น้ำมะพร้าว น้ำส้ม อาหารแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป กระดาษ อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เส้นใย เครื่องแต่งกาย รถจักรยานยนต์ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน สินค้าของประเทศคู่เจรจาก็มีโอกาสเข้ามาแข่งขันมากขึ้นเช่นกัน โดยสินค้าที่ไทยเปิดตลาดเพิ่มเติมใน RCEP เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องยนต์ ปลาสดแช่เย็น/แช่แข็ง ท่อนเหล็ก ผลิตภัณฑ์ที่ทําด้วยเหล็ก เครื่องเพชรพลอยเทียม หินที่ใช้ในการก่อสร้าง กระดาษ หนังสือพิมพ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น - ขยายห่วงโซ่อุปทานจากการสะสมถิ่นกําเนิดในภูมิภาค
RCEP มีการกําหนดเกณฑ์ถิ่นกําเนิดสินค้าที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้นจากทั้งในและนอกภาคี โดยอนุญาตให้สมาชิกทั้ง 15 ประเทศสามารถนําวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกําเนิดภายใต้ความตกลง RCEP มาสะสมถิ่นกําเนิดสินค้าต่อได้ ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สําคัญเมื่อเปรียบเทียบกับความตกลงการค้าเสรีอาเซียนและอาเซียน+1 จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการผ่านเกณฑ์ถิ่นกําเนิดสินค้า ส่งผลให้การค้าและการลงทุนในภูมิภาคขยายตัวเพิ่มขึ้น - โอกาสภาคบริการและการลงทุนของไทย
การเปิดตลาดของประเทศสมาชิกจะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ ก่อสร้าง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนิเมชั่น ค้าปลีก เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน ไทยมีการเปิดตลาดเพื่อเปิดรับการลงทุนคุณภาพที่ไทยยังมีความต้องการในสาขาที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อม ICT การศึกษา การซ่อมบํารุงรักษาชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติมากขึ้น อย่างไรก็ดี ไทยมีการระบุเงื่อนไขที่เปิดกว้างให้รัฐออกมาตรการเพื่อปกป้องดูแลผลประโยชน์ชาติและผู้ประกอบการในประเทศ - อํานวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน
ความตกลง RCEP จะช่วยลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎถิ่นกําเนิดสินค้า มีการปรับพิธีการศุลกากรให้มีความชัดเจน รวดเร็ว โปร่งใส ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้รับความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา และมีการอํานวยความสะดวกการจดทะเบียนต่างๆ ในประเทศสมาชิกได้ง่ายขึ้น อีกทั้งช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออํานวยต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเพิ่มช่องทางให้กับ SMEs ในการได้รับข้อมูล ประสบการณ์และความรู้ที่จําเป็นต่อการเข้าถึงตลาดของประเทศสมาชิกได้มากขึ้น