ส่อง 9 อันดับผลไม้สดที่จีนนำเข้ามากที่สุด ปี 2563 ทุเรียนไทยติดอันดับ 1

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานการนำเข้าผลไม้สดของจีน โดยสถิติจากศุลกากรแห่งชาติจีน ระบุว่า ปี 2563 มูลค่าการนำเข้าผลไม้สดของจีนสูงถึง 1.026 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 8% YoY) ขณะที่ปริมาณการนำเข้าผลไม้สดอยู่ที่ 6.302 ล้านตัน (ลดลง 8% YoY) เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 กระทบต่อระบบโลจิสติกส์และความต้องการบริโภค

ทั้งนี้ ผลไม้สด 9 ชนิดที่จีนนำเข้ามูลค่าสูงสุด ได้แก่ ทุเรียน เชอร์รี่ กล้วยหอม มังคุด องุ่น แก้วมังกร ลำไย กีวี ส้ม ตามลำดับ โดยมูลค่าการนำเข้าของผลไม้ 9 ชนิดดังกล่าว คิดเป็น 78% ของมูลค่าการนำเข้าผลไม้สดทั้งหมดของจีน

ที่ผ่านมา จีนได้ทยอยเปิดให้มีการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการนำเข้าผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลไม้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ต่อปี โดย ณ วันที่12 ม.ค. 2564 ประเทศจีนมีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจผลไม้กว่า 3.57 ล้านราย กระจายอยู่ในมณฑลซานตง กวางตุ้ง เจียงซู เสฉวน เจ้อเจียง เป็นหลัก โดย 68.57% ของผู้ประกอบการดังกล่าวเป็นผู้ค้าส่งและค้าปลีก (กลุ่มที่เหลือเป็นผู้ประกอบการอื่น เช่น สวนผลไม้ โรงงานแปรรูป ผู้ขนส่ง เป็นต้น)

ทั้งนี้ จากความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน จีนเป็นแหล่งผลิตผลไม้รายใหญ่อันดับต้นของโลก มีผลไม้หลากหลายชนิด และมีอุปทานผลไม้เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ อย่างไรก็ตาม จีนยังคงนำเข้าผลไม้จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่นๆปริมาณมาก สาเหตุสำคัญเนื่องจากผลไม้เมืองร้อนหลายอย่างไม่สามารถปลูกได้ในจีน หรือปลูกได้แต่คุณภาพผลไม้ต่างจากผลไม้ของประเทศต้นกำเนิด

สำหรับผลไม้สดไทยที่จีนอนุญาตให้นำเข้า มีทั้งสิ้น 22 ชนิด ประกอบด้วย ทุเรียน, มะขาม, น้อยหน่า, มะละกอ, มะเฟือง, ฝรั่ง, เงาะ, ชมพู่, ขนุน, ลองกอง, สับปะรด, ละมุด, กล้วย, เสาวรส, มะพร้าว, ลำไย, มะม่วง, ลิ้นจี่, มังคุด, ส้ม (Citrus reticulata), ส้มเช้ง (Citrus sinensis) และส้มโอ

ปัจจุบัน ผู้บริโภคในจีนยังคงชื่นชอบผลไม้สดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว เป็นต้น เพื่อให้ผลไม้ไทยครองใจผู้บริโภคจีนอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกผลไม้ไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันยกระดับมาตรฐานคุณภาพ/ความปลอดภัยของผลไม้ไทย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผลไม้ไทย ตลอดจนเร่งกระตุ้นการบริโภคผลไม้ไทยในตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *