28 ก.พ. 2564 ถือเป็นปฐมฤกษ์วันแรกของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทย เป็นวัคซีนของ‘ซิโนแวค’ล็อตแรกนำเข้ามาจากจีน โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นผู้เข้ารับการฉีดเป็นเข็มแรกของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และยังมีรัฐมนตรีอีก 3 คน พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ได้รับการฉีควัคซีนเป็นกลุ่มแรก โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยาน แต่ไม่ได้ฉีดเนื่องจากเงื่อนไขข้อจำกัดอายุที่เกิน 60 ปี ทำให้ต้องรอฉีดวัคซีนของ‘แอสตร้าเซนเนก้า’
การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกในประเทศไทยจัดขึ้น 4 วันหลังจากที่ซิโนแวคจัดส่งวัคซีนล็อตแรก จำนวน 2 แสนโดสถึงไทยเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ตามคำสั่งซื้อของรัฐบาลไทย ส่วนวัคซีนล็อตที่สองจำนวน 8 แสนโดส จะส่งมอบในเดือนมี.ค.และล็อตที่สามจำนวน 1 ล้านโดสจะส่งมอบในเดือนเม.ย. รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส
ทั้งนี้ ในพิธีรับวัคซีนที่สนามบินสุวรรณภูมิ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำให้ไทยได้รับวัคซีนเป็นล็อตแรก พร้อมระบุว่า วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่เราได้รับวัคซีนล็อตแรกซึ่งเกิดจากการเจรจากับ บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ซายน์ จำกัด ประเทศจีน ภายใต้การประสานงานจัดหาโดยสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และมอบให้องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ดำเนินการนำเข้า ขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและกระจายไปสู่ประชาชน ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายคนละ 2 โดส ห่างกัน 21 วัน และในเดือนมิ.ย.จะได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าอีก 61 ล้านโดส
ด้านหยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า วัคซีนซิโนแวคที่ส่งมาถึงไทยครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จอันสำคัญอีกครั้งหนึ่งของความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างจีนและไทย โดยนอกจากจะเป็นวัคซีนล็อตแรกที่ประเทศจีนส่งออกมายังไทยแล้ว ยังเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดแรกที่ประเทศไทยได้นำเข้า ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้รับวัคซีนจากจีนโดยช่องทางพาณิชย์ ตอกย้ำคำกล่าวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ระบุว่าวัคซีนจีนจะต้องเป็นสินค้าสาธารณะทั่วโลก และยังสะท้อนถึงรัฐบาลจีนเร่งสร้างอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ รวมถึงมิตรภาพอันแนบแน่นระหว่างไทยและจีนที่มีมาช้านาน
ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวคเป็นวัคซีนเชื้อตายที่มีชื่อว่า “โคโรนาแวค” (CoronaVac) ทำงานโดยการเหนี่ยวนำระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ให้สร้างแอนติบอดีต้านโควิด-19 โดยแอนติบอดีจะยึดติดกับโปรตีนบางส่วนของไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกาย
วัคซีนเชื้อตายเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันโรค และสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้ วัคซีนดังกล่าวได้มีการศึกษาในคนระยะที่ 1, 2 และ 3 ในประเทศบราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย และชิลีแล้ว มีการรายงานผลว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค รวมถึงได้รับการรับรองและให้ใช้ในประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว
“วัคซีนของซิโนแวคยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง อาการที่อาจพบได้ อาทิ เจ็บบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน ส่วนอาการแพ้ที่สังเกตได้ คือ ผื่นแดง คันตามร่างกาย หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด แน่นหน้าอก เป็นต้น โดยวัคซีนทั่วไปมักพบอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสังเกตอาการประมาณ 15 นาที” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ทั้งนี้ ตามแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ระยะแรก ในเดือนมี.ค.– พ.ค. ที่จะทยอยได้รับจากซิโนแวคทั้งสิ้นจำนวน 2 ล้านโดสนั้น จะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ใน 18 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร, กรุงเทพฯ (ฝั่งตะวันตก), ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ, ตาก (อ.แม่สอด), นครปฐม, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, ชลบุรี, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย), เชียงใหม่, กระบี่, ระยอง, จันทบุรี, ตราด และเพชรบุรี โดยฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า อสม. ประชาชนทั่วไปและแรงงานที่มีอายุ 18-59 ปี เน้นผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน