

อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
วันที่ 23 ก.ค.2564 ‘ฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 16’ จัดขึ้นที่นครหนานหนิง ประเทศจีน ภายใต้หัวข้อ ‘การพัฒนาคุณภาพสูงและความร่วมมือระดับนานาชาติด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม’ โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน และรัฐบาลกว่างซีเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมระหว่างจีน-อาเซียน และหารือพูดคุยถึงแนวโน้มเส้นทางการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมคุณภาพสูงในยุคใหม่
แขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ตัวแทนจากศูนย์อาเซียน-จีน สถานทูตและสถานกงสุลประเทศอาเซียนในจีน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการท่องเที่ยววัฒนธรรมจากจีน-อาเซียนและฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน รวมกว่า 300 คน เข้าร่วมงานฟอรั่มทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์
ฟ่าน เสี่ยวลี่ กรรมาธิการสามัญคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเขตฯกว่างซีจ้วง อธิบดีสำนักโฆษณาพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเขตฯ กว่างซีจ้วง กล่าวว่า กว่างซีมีจุดเด่นด้านทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่เด่นชัด เป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทั้งทัศนียภาพทางธรรมชาติ วัฒนธรรมชนเผ่า เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วิถีอายุยืน วัฒนธรรมสีแดง (หมายถึง วัฒนธรรมการปฏิวัติของจีน) วัฒนธรรมชายแดน วัฒนธรรมทางทะเล วัฒนธรรมอาหารหลิ่งหนานที่มีลักษณะเฉพาะโดดเด่น รวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่มีความหลากหลาย
กว่างซีให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรรมอย่างมาก ทางการได้ออกแนวนโยบายส่งเสริมการปฏิรูปพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง และมีความพยายามที่จะเปลี่ยนข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรวัฒนธรรมของกว่างซีเป็นข้อได้เปรียบในการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และผลักดันให้อุตสาหกรรมวัฒนธรรมของกว่างซีเจริญเติบโตอย่างมั่นคง
กว่างซีมีอาณาเขตติดต่อกับอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล มีความคล้ายคลึงกันด้านวัฒนธรรม เป็นช่องทางและด่านหน้าทางความร่วมมือกับอาเซียนของจีน ฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียนประสบความสำเร็จในการจัดงานมาแล้วทั้งสิ้น 16 ครั้ง และได้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญของการหารือแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอาเซียน กว่างซียินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ แสวงหาแนวทางความร่วมมือ และสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมวัฒนธรรรมผ่านงานฟอรั่มครั้งนี้


เซี่ย จินอิง ผู้อำนวยการสำนักแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน
เซี่ย จินอิง ผู้อำนวยการสำนักแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน กล่าวว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของจีนมีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง ตลาดแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงสร้างอุตสาหกรรมได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สินค้าและบริการมีคุณภาพและความหลากหลายมากขึ้น ผู้คนมีการบริโภคทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นทุกวัน อุตสาหกรรมวัฒนธรรมได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนใหม่ทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ช่วยเติมพลังใหม่ให้กับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม
อาเซียนเป็นพื้นที่สำคัญของการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” คุณภาพสูง จีนยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จของการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมกับอาเซียน และยินดีที่จะดำเนินความร่วมมืออย่างรอบด้านกับอาเซียน ทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม เกมแอนิเมชัน การแสดงและนิทรรศการ การผลิตอุปกรณ์สนับสนุนด้านวัฒนธรรม อุตสาหกรรมวัฒนธรรมดิจิทัล และการพัฒนาเชิงบูรณาการระหว่างวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยว เพื่อบรรลุการพัฒนาร่วมกันระหว่างจีน-อาเซียน ทั้งในด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไปจนถึงด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในระดับที่สูงขึ้น


กัญชลิกา กัมปนานนท์ หัวหน้าภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีนให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์งานฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน โดยกำหนดให้งานฟอรั่มนี้เป็นแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่สำคัญของ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ระหว่างช่วงแผนพัฒนาฯ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 และเป็นโครงการสำคัญในการเชื่อมโยงผู้คนตามแนว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
ฟอรั่มครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพสูงและความร่วมมือระดับนานาชาติด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม เปิดพื้นที่ให้จีนและประเทศสมาชิกอาเซียนได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนา และขยายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมระหว่างกัน หวังว่าประเทศที่เข้าร่วมจะได้รับประสบการณ์และความร่วมมือที่มากขึ้นผ่านฟอรั่มนี้ และทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในจีนและอาเซียน
เฉิน เต๋อไห่ เลขาธิการใหญ่ศูนย์อาเซียน-จีน กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจการค้าที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้อุตสาหกรรมวัฒนธรรมมีสัดส่วนในอุตสาหกรรมของจีนและอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในด้านการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ศิลปะการแสดง แอนิเมชัน ภาพยนตร์และโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมได้รับการปรับปรุงพัฒนาอยู่ตลอด
อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมไทย กล่าวผ่านวิดีทัศน์ว่า ความร่วมมือของไทยกับจีนในด้านภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์และโฆษณาเชิงสร้างสรรค์ได้ช่วยสร้างความผูกพันระหว่างชาวไทยกับจีนได้อย่างลึกซึ้ง แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สังคมและวัฒนธรรม แต่เชื่อมั่นว่าความต้องการส่งเสริมความร่วมมืออุตสาหกรรมวัฒนธรรมระหว่างไทยและจีนยังคงแข็งแกร่ง


เฉิน เจี้ยนผิง รองประธานบริหารและเลขาธิการสมาคมวิจัยวัฒนธรรมคนดังชาวจีนและต่างชาติ ประธานกลุ่มบริษัท Whoswho Culture Media Group จำกัด
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดเส้นทางใหม่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และได้กลายเป็นทิศทางที่สำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมคุณภาพสูง Dato’ Sri Hajah Nancy Shukri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวศิลปะและวัฒนธรรมมาเลเซีย กล่าวถ้อยแถลงผ่านวิดีทัศน์ว่า มาเลเซียและประเทศอาเซียน ยินดีและพร้อมสนับสนุนการผลักดันการพัฒนาคุณภาพสูงด้านวัฒนธรรมดิจิทัลของจีน
ฟอรั่มครั้งนี้มีการจัดเสวนา 2 หัวข้อ ได้แก่ “การแบ่งปันและได้ผลประโยชน์ร่วมกัน: ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีน-อาเซียนกับเส้นทางการพัฒนาคุณภาพสูง” และ “การพัฒนาแบบบูรณาการของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”


Dato’ Sri Hajah Nancy Shukri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวศิลปะและวัฒนธรรมมาเลเซีย
ฟอรั่มครั้งนี้เป็นงานระดับนานาชาติที่จัดขึ้นภายใต้สถานการณ์การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด เป็นงานครั้งสำคัญที่จัดขึ้นในรูปแบบผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ มีบทบาทอย่างแข็งขันในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงและความร่วมมือระดับนานาชาติด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมระหว่างจีนและอาเซียนในช่วงยุคหลังเกิดการแพร่ระบาด