จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ เฝิง เฟย ผู้ว่าการมณฑลไห่หนาน ร่วมเป็นประธานสักขีพยาน ในพิธีลงนาม MOU ความร่วมมือทางการค้าระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยกับกรมพาณิชย์ไห่หนาน ซึ่งจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ วันนี้ ( 20 ส.ค.)
การลงนาม MOU ครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายผลักดันขยายการส่งออกไปตลาดจีนของรองนายกฯจุรินทร์ ผ่านยุทธศาสตร์สร้างความร่วมมือทางการค้าเชิงลึกระดับมณฑลเป็นครั้งแรกกับมณฑลไห่หนาน ซึ่งรัฐบาลจีนมีนโยบายผลักดันให้เป็นเมืองท่าการค้าเสรีระดับสูงที่มีอิทธิพลในระดับโลกเทียบเท่าฮ่องกง
รองนายกฯ จุรินทร์ กล่าวขอบคุณผู้บริหารจากมณฑลไห่หนาน ที่ให้เกียรติเข้าร่วมพิธีลงนาม MOU ผ่านระบบทางไกลในวันนี้ และกล่าวว่ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีส่วนในการผลักดันให้ประเทศไทยและมณฑลไห่หนานมีความร่วมมือทางการค้าที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทย ชื่อของ “ไห่หนาน” หรือ“ไหหลำ” เป็นชื่อที่คนไทยคุ้นเคยมาช้านาน เนื่องจากไทยมีประชากรเชื้อสายไห่หนานอยู่จำนวนมาก มีการรักษาวัฒนธรรมไห่หนานไว้อย่างเหนียวแน่น และยังมีการรวมกลุ่มที่มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก
ในบรรดาประเทศพันธมิตรทางการค้าของไทย จีนเป็นประเทศคู่ค้าและตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยมาโดยต่อเนื่อง ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปีที่ผ่านมา สูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 18.26 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยโดยรวม และสำหรับมณฑลไห่หนานในปี 2563 แม้ว่าโลกจะเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 แต่การค้าระหว่างมณฑลไห่หนานกับไทยยังคงมีมูลค่าสูงถึงราว 9,233 ล้านบาท (295.07 ล้านเหรียญฯ)
เมื่อปลายเดือนพ.ย.ปีผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีเปิดงาน CIIE ครั้งที่ 3 และได้รับฟังคำกล่าวเปิดงานของท่านประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาจีนในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ขอกล่าวถึง 2 ประเด็น คือ
1.จีนจะสนับสนุนความร่วมมือทางการค้าทั้งพหุภาคีและทวิภาคี ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาตนในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีการค้า RCEP ก็ได้สรุปข้อตกลง RCEP เป็นข้อตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกในระดับพหุภาคี
2.จีนจะใช้เขตการค้าเสรีภายในประเทศเป็นพื้นที่ทดสอบนำร่องที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศซึ่งสามารถขยายการเปิดเสรีภาคเศรษฐกิจดิจิทัล และไห่หนานก็ได้อยู่ในแผนการพัฒนาดังกล่าวด้วย
” ขอชื่นชมวิสัยทัศน์ของท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ได้วางแผนยกระดับให้ไห่หนานเป็นเมืองท่าการค้าเสรีที่มีอัตลักษณ์ ซึ่งถือเป็นนโยบายการเปิดประเทศที่สำคัญของจีน อันจะช่วยเอื้อต่อการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ
ผมเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพที่มีของไห่หนานจะส่งผลให้ไห่หนานก้าวขึ้นสู่การเป็นเมืองท่าสากลระดับโลก ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน และในฐานะที่ผมมีเชื้อสายไห่หนาน ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานที่สมาคมใหหนำแห่งประเทศไทยหลายครั้ง ซึ่งหลายท่านได้แสดงความสนใจในการไปทำธุรกิจที่บ้านเกิดของบรรพบุรุษ ความสนใจดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายที่ผมได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์ของไทยไว้ตั้งแต่เมื่อเข้ารับตำแหน่ง โดยขอให้เดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าในระดับต่างๆ เพื่อลดอุปสรรคและแสวงหาโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เผชิญทั้งกับความท้าทายและความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ ซึ่งไห่หนานถือเป็นมณฑลแรกในจีนที่กระทรวงพาณิชย์ไทยได้จัดทำ MOU ร่วมกัน
พิธีลงนาม MOU ในวันนี้จึงถือได้ว่าเป็นก้าวที่มีความสำคัญ และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไทย และกรมพาณิชย์ไห่หนาน ที่จะช่วยสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และจะเป็นการเชื่อมโยงห่วงโซ่การค้าบนพื้นฐานความร่วมมือฉันท์มิตรระหว่างกันตลอดไป ” รองนายกฯจุรินทร์ กล่าว
จากนั้น รองนายกฯจุรินทร์ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมภายหลังพิธีลงนามฯว่า ความร่วมมือนี้ถือเป็น Mini FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับมณฑลในประเทศจีน ซึ่งเป็นนโยบายที่ให้ไว้กับกระทรวงพาณิชย์ ว่าให้ทำ FTA ฉบับเล็กหรือเรียกได้ว่า Mini-FTA กับรัฐต่างๆที่บางรัฐมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าหรือมีจำนวนประชาชนมากกว่าประเทศไทย โดยไห่หนานเป็นตัวอย่างแรกที่เกิดขึ้นกับประเทศจีน
“ ปี 2563 ที่ผ่านมา แม้จะเผชิญกับสถานการณ์โควิด แต่การค้าระหว่างไทย-ไห่หนาน ยังอยู่มีมูลค่าสูงถึงราว 9,233 ล้านบาท หรือ 295.07 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ภายใน 2 ปีนี้ ตั้งเป้าว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 12,000 ล้านบาท โดย MOU ที่ลงนามครั้งนี้จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. 2564 ถึงวันที่ 20 ส.ค. 2566 เป็นระยะเวลา 2 ปี” รองนายกฯจุรินทร์ กล่าว
โดยเนื้อหาสำคัญของความร่วมมือระหว่างไทย-ไห่หนาน ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่
1. ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้าระหว่างกัน
2. ด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการค้า ด้านสินค้า ด้านนวัตกรรมและการตลาดรวมทั้งการส่งเสริมการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระหว่างกันเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า
3.ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน เช่น การเดินทางของนักธุรกิจ การจัดประชุมสัมมนาร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างกัน
4.ด้านการมุ่งขยายมูลค่าการค้าใน 3 สินค้าหลัก คือ สินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม
5.ความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซ เช่น การส่งเสริมการค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆของจีนและไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน
ตัวอย่างกิจกรรมความร่วมมือระหว่างกันที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังการลงนามครั้งนี้ เช่น การจัดกิจกรรมจับคู่เจรการค้าออนไลน์ระหว่างไทยกับไห่หนานในเดือนพ.ย.2564 การเชิญนักธุรกิจจากไห่หนานเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เช่น งานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX และงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ Bangkok Gems & Jewelry Fair รวมถึงเชิญชวนนักธุรกิจไทยเดินทางเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Hainan Expo ที่มณฑลไห่หนาน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน
นอกเหนือจากการจัดทำ Mini FTA กับมณฑลไห่หนานของขีนแล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังอยู่ระหว่างเดินหน้าจัดทำ Mini FTA กับมณฑลกานซู่ของจีน ซึ่งขณะนี้ได้มีความคืบหน้า เพื่อเป็นช่องทางขยายการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังกลุ่มมุสลิมชาวจีน พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกได้เร่งรัดประสานจัดทำ Mini FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญที่ขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ๆอื่นเพิ่มเติม อาทิ การจัดทำ Mini FTA กับรัฐเตลังคานาของอินเดีย และจังหวัดคย็องกีของเกาหลีใต้ เป็นต้น
ด้าน เฝิง เฟย ผู้ว่าการมณฑลไห่หนาน กล่าวผ่านระบบออนไลน์ว่า พิธีลงนาม MOU ความร่มมือทางการค้าระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ประเทศไทย และกรมพาณิชย์ มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสความร่วมมือใหม่ของทั้งสองฝ่าย ประเทศจีนและประเทศไทยมีความใกล้ชิดกันทั้งทางภูมิศาสตร์และมีมิตรภาพที่ลึกซึ้ง และเป็นช่องทางที่สำคัญของประเทศจีนที่ติดต่อกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งมณฑลไห่หนานกับประเทศไทยมีความสัมพันธ์ความร่วมมือที่ดียิ่งขึ้นและยาวนาน อาทิ ด้านธุรกิจการค้า ด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากร เป็นต้น
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการค้ามีมากกว่า 2,000 ล้านหยวน สาขาการลงทุนได้ขยายไปในหลายๆด้าน และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้สัมฤทธิ์ผล
เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานระดับสูงสุดของโลก การก่อสร้างท่าเรือการค้าเสรีที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงและมีลักษณะเด่นเฉพาะของจีน ถือว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการพัฒนาที่รัฐบาลกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีนมอบให้กับมณฑลไห่หนาน
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ทางการจีนได้เปิดแถลงแผนการว่าด้วยการก่อสร้างท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานโดยรวม นโยบายและมาตรการ 140 กว่ารายการได้ประกาศใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการยกเว้นภาษี การเก็บอัตราภาษีขั้นต่ำ การเก็บภาษีระบบง่าย การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การอำนวยความสะดวกเป็นหลัก
ระบบนโยบายท่าเรือการค้าเสรีได้มีโครงสร้างสำเร็จรูปและได้จัดงานมหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชาติของจีน (China International Consumer Products Expo : CICPE) อย่างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2564
กฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน ได้ประกาศใช้และดำเนินการโดยส่งเสริมท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน จากมุมมองนิติบัญญัติแห่งชาติจีน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ถูกกฎหมายเป็นระดับสากล และอำนวยความสะดวกภายใต้รูปแบบกาพัฒนาครั้งใหม่ของจีน
ท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานจะกลายเป็นจุดสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ดึงดูดและจัดสรรทรัพยากรจากทั่วโลก เป็นการเปิดโอกาสความร่วมมือระหว่างจีนและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย
พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนามครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ในการสร้างกลไกความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพและยาวนาน ต่อจากนี้เป็นการขยายความร่วมมือระหว่างมณฑลไห่หนานและประเทศไทย ทั้งทางด้านธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและสังคม เป็นต้น
ทั้งสองฝ่ายจะร่วมแบ่งปันโอกาสใหม่ๆ แสวงหาการพัฒนาใหม่ในอนาคตร่วมกัน และขอขอบคุณท่านจุรินทร์ ลักษณวิสิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีความใส่ใจและสนับสนุนการก่อสร้างท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
“ ผมขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยมาท่องเที่ยวและร่วมลงทุนพัฒนาธุรกิจที่มณฑลไห่หนาน พวกเราจะใช้ท่าทีที่เปิดกว้าง การบริการที่ดีเยี่ยม และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจชั้นหนึ่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนในมณฑลไห่หนาน รวมไปถึงการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายและการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ” ผู้ว่าการมณฑลไห่หนาน กล่าว