การค้าผลไม้จีน-อาเซียน ยังคงเติบโต แม้เผชิญกับความท้าทายของโควิด-19

จีนเพิ่มช่องทางให้นำเข้าผลไม้ไทยที่ด่านตงซิง มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.2564 เป็นต้นไป

ผู้เขียน หลี หมิ่น นิตยสาร CAP

ฤดูร้อนเป็นช่วงไฮซีซั่นที่ผลไม้ออกสู่ตลาดปริมาณมาก จากปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการผลไม้นำเข้าของผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีผลไม้นำเข้าคุณภาพสูงจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างทุเรียน มังคุด และแก้วมังกรเป็นดาวเด่น เบื้องหลังของปรากฏการณ์ที่ว่านี้เป็นผลมาจากทั้งมาตรการลดภาษีเป็นศูนย์ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้าและพิธีการศุลกากรของทั้งสองฝ่าย

แม้ว่าขณะนี้การค้าผลไม้ระหว่างจีนกับอาเซียน จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากโควิด-19 แต่ภาครัฐและเอกชนของประเทศต่างๆ ยังคงเดินหน้าผลักดันการค้าผลไม้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่เพียงแต่ยังคงมีการนำเข้าผลไม้ในปริมาณมากเท่านั้น แต่ประเภทของผลไม้ วิธีการและช่องทางการนำเข้าก็มีความหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน ผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นจากวิกฤตโควิดครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อผู้บริโภค แต่ยังเอื้อประโยชน์ให้กับความร่วมมือด้านการค้าระหว่างจีน-อาเซียนด้วย

การค้าผลไม้จีน-อาเซียนได้รับอานิสงส์จากโควิด

ฤดูเก็บเกี่ยวมะม่วงเวียนกลับมาอีกครั้งในรอบปี สวนมะม่วงในกัมพูชามีผลผลิตออกเต็มต้น เหล่าคนงานเริ่มลงมือเก็บมะม่วงลงจากต้นอย่างชำนาญ ก่อนจะค่อยๆ เรียงผลมะม่วงใส่ลงในลังพลาสติกที่เตรียมปูกระดาษรอไว้แล้ว แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปจากทุกปีคือ หลังจากมะม่วงล็อตนี้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ จะถูกขนส่งผ่านทางเรือไปยังประเทศจีนโดยตรง ทำให้มั่นใจในคุณภาพของผลผลิตได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

พิธีรับมอบมะม่วงกัมพูชาล็อตแรกที่ส่งออกไปยังจีน

นอกเหนือจากพันธมิตรรายใหม่ ในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ไทยซึ่งเป็นคู่ค้ากับจีนในเรื่องการนำเข้าผลไม้เมืองร้อนมาอย่างยาวนาน ก็มีความก้าวหน้าใหม่ทางความร่วมมือด้วยเช่นกัน โดยจีนได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยที่ด่านตงซิงได้แล้ว จากเดิมที่อนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยได้จำนวน 3 ด่านคือ ด่านโม่หาน ด่านโหย่วอี้กวน และด่านรถไฟผิงเสียง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.2564 เป็นต้นไป ซึ่งช่องทางใหม่ที่เพิ่มมานี้จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการส่งออกของผลไม้ไทย และเพิ่มทางเลือกให้กับการส่งออกผลไม้ไทยไปยังจีน

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง การส่งออกผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียนมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเปิดเผยของ อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ไทยส่งออกทุเรียนมูลค่า 186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.79 พันล้านบาท) ไปยังจีน ในไตรมาสแรกของปี 2564 ครองสัดส่วนร้อยละ 88 ของมูลค่าการจำหน่ายทุเรียนทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก จีนกลายเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดของทุเรียนไทย

นอกเหนือจากไทย ปัจจุบันผลไม้นำเข้าจากเวียดนาม ลาวและฟิลิปปินส์ก็กำลังไปได้ดีในตลาดจีนเช่นกัน เบื้องหลังตลาดที่มีการแข่งขันดุเดือดนี้ สิ่งที่ขาดไปไม่ได้คือความร่วมมือและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งในแหล่งผลิต ในระหว่างการขนส่งผ่านแดน และกระบวนการตรวจสอบกักกันโรค

การค้าผลไม้ยังคงรุดหน้าต่อท่ามกลางโควิด

โควิด-19 ไม่เพียงแต่นำความท้าทายด้านโลจิสติกส์ พิธีการศุลกากรข้ามแดน และการตรวจสอบกักกันโรคมาสู่ภาคการค้าผลไม้เท่านั้น ข่าวที่จีนตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ปนเปื้อนบนผิวด้านนอกของเชอร์รี่นำเข้าก็ทำให้หลายคนเป็นกังวลใจกับผลไม้นำเข้าเช่นกัน การเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมา การขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางข้อจำกัดด้านการเดินทาง การเฝ้าระวังคัดกรองโรคที่หน้าด่าน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการเพื่อให้การค้าผลไม้ระหว่างจีน-อาเซียนเป็นไปอย่างราบรื่น

จีนอนุมัติให้มีการนำเข้ามะม่วงจากกัมพูชาเป็นผลไม้สดชนิดที่ 2 ต่อจากกล้วย

สำหรับมาตรการที่แหล่งผลิต ทางการไทยและผู้ส่งออกผลไม้ไทยมีระบบควมคุมด้านความปลอดภัยอาหารตลอดทั้งกระบวนการ คุมเข้มไม่ให้มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ติดไปกับผลไม้ไทย นอกเหนือจากการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณสถานที่ผลิตแล้ว ไทยยังมีการดูแลจัดการเรื่องคนและการเก็บรักษาผลผลิตตามมาตรการควบคุมและป้องกันโควิด-19 ทำให้มั่นใจว่าผลไม้ไทยได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้เสนอให้ผู้ประกอบการผลไม้ปฏิบัติตามมาตรการ 4 อย่าง ได้แก่ การฆ่าเชื้อผลผลิต การติดตราสัญลักษณ์ปลอดโควิด อนุญาตให้หน่วยงานทางจีนเข้ามาตรวจสอบกระบวนการผลิตและจัดจำหน่าย และทำประกันโควิดให้กับผู้ที่ซื้อทุเรียนไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลไม้ไทยแก่ผู้บริโภคชาวจีน

ขณะที่ด่านโหย่วอี้กวนในเมืองผิงเสียง ซึ่งเป็นด่านนำเข้าผลไม้เมืองร้อนทางบกที่ใหญ่ที่สุดระหว่างจีนกับอาเซียนก็ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปได้ด้วยดี

ด้านการขนส่งทางบก เมืองผิงเสียงได้กำหนดให้รถบรรทุกที่ผ่านเข้าออกด่านฝั่งจีนจะต้องขับโดยคนขับที่จ้างมาเป็นการเฉพาะเท่านั้น โดยคนขับเหล่านี้จะได้รับการตรวจกรดนิวคลีอิกทุก 3 วัน ทำงานประจำลานสินค้าและพักอาศัยได้เฉพาะในบริเวณที่กำหนด รวมถึงวิ่งรถได้ในเส้นทางที่กำหนดเท่านั้น โดยขณะนี้มีการจ้างคนขับทำงานที่ด่านโหย่วอี้กวนทั้งสิ้น 434 คน

เพื่อย่นระยะเวลาผ่านด่านให้ได้มากที่สุด ด่านโหย่วอี้กวนได้จัดระเบียบการจราจรบริเวณด่านใหม่ โดยแยกเส้นทางเดินรถสำหรับการนำเข้า-ส่งออกออกจากกัน พร้อมทั้งเปิดบริการสอบถามพิกัดอัตราศุลกากรล่วงหน้าผ่านทางแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีการฉีดพ่นฆ่าเชื้อบริเวณด่านศุลกากรทุกวัน และมีการตรวจสอบความเสี่ยงการปนเปื้อนของผลไม้นำเข้าอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่าผลไม้สดจากอาเซียนจะปลอดภัยและถูกสุขอนามัย

นอกเหนือจากการขนส่งทางบก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 การขนส่งทางรถไฟได้กลายเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการหลายราย เนื่องจากสามารถบรรทุกได้คราวละปริมาณมากและใช้แรงงานคนน้อย เมื่อปี 2562 ทางการจีนได้อนุมัติการจัดตั้งพื้นที่ศูนย์ตรวจกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืชในผลไม้นำเข้าที่ด่านรถไฟผิงเสียงอย่างเป็นทางการ ทำให้ด่านรถไฟผิงเสียงกลายเป็นด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟแห่งแรกของจีน และเริ่มมีรถไฟระบบห่วงโซ่ความเย็นข้ามพรมแดนวิ่งเป็นประจำทุกสัปดาห์ ต่อมาหลังจากเกิดโควิด เส้นทางการขนส่งนี้ก็ยิ่งทวีบทบาทด้านการค้าผลไม้ระหว่างจีนกับอาเซียนมากขึ้น

จากข้อมูลของศุลกากรเมืองผิงเสียง ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ม.ค. -20 พ.ค.2564 ด่านรถไฟผิงเสียงมีปริมาณผลไม้นำเข้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทะลุหมื่นตัน คิดเป็นปริมาณนำเข้าเกือบทั้งปีของปี 2563 มีจำนวนตู้ผลไม้ 602 ตู้ คิดเป็นมูลค่าสินค้า 42.576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความร่วมมือที่ไม่หยุดอยู่แค่การค้า

นับตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน การค้าผลไม้ถือเป็นขอบเขตความร่วมมือที่ได้รับอานิสงส์จากความตกลงเขตการค้าเสรีเป็นอันดับแรกๆ ทั้งสองฝ่ายได้รับผลประโยชน์จากมาตรการลดกำแพงภาษีเป็นศูนย์ และมีการเพิ่มรายการชนิดของผลไม้อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนพ.ค.2564 ไทยได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลไม้สดไปจีนจำนวน 22 ชนิด ถือว่ามากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียน ขณะที่ประเทศอื่นๆในอาเซียนกำลังเร่งยื่นขอเพิ่มชนิดผลไม้ที่ส่งออกได้

ขณะเดียวกัน การค้าผลไม้ระหว่างจีนกับอาเซียนจะต้องไม่หยุดอยู่แค่การค้า หลู่ ฟางเสี้ยว ประธานสมาคมการตลาดผลไม้แห่งประเทศจีน (China Fruit Marketing Association) กล่าวว่า “ความร่วมมือด้านผลไม้ระหว่างจีนกับอาเซียน ไม่ได้มีแค่มิติของการค้านำเข้าส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมผลไม้ทั้งหมด ครอบคลุมไปทั่วทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรม มีการบูรณาการเชิงลึกและหลายระดับ บริษัทชั้นนำด้านผลไม้ของจีนหลายแห่งได้เข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตผลไม้ที่ได้มาตรฐาน สร้างพื้นที่รองรับผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว เช่น คลังสินค้าห้องเย็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งสองฝ่ายร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และยกระดับคุณภาพสินค้าไปด้วยกัน”

โดยเฉพาะช่วงไม่กี่ปีมานี้ที่จีนได้นำเอาเทคโนโลยีทางการเกษตรอันล้ำสมัย ช่องทางการตลาดผ่านอีคอมเมิร์ซ และความสามารถด้านการแปรรูปเชิงลึก มาผสานรวมกับทรัพยากรผลไม้เมืองร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นถึงพลังมหาศาลของความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม

สำหรับหลายประเทศในอาเซียนซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการยกระดับความทันสมัยทางเทคโนโลยีด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับวิถีทางทำมาหากินของประชาชน สำหรับประเทศจีนแล้วความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมผลไม้ระหว่างสองฝ่าย ไม่เพียงแต่เป็นตัวกลางสำคัญในการกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้ากับอาเซียน แต่ยังสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ให้กับตลาดการบริโภคของจีนด้วย เชื่อมั่นว่าภายใต้เจตนารมณ์เดียวกันนี้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน จีนและอาเซียนจะยังคงมุ่งมั่นสานต่อความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมผลไม้ร่วมกันต่อไป


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *