การมาถึงของยุคการค้าเสรี และอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน หรือ Cross border กำลังทำให้การขนส่งสินค้าจากจีนมายังไทยรวดเร็วมากขึ้น ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยจะปรับตัวอย่างไร?เพื่อความอยู่รอด ในงาน “e-Commerce Trend 2020” Insight China เข้าใจจีน เข้าใจโลก จัดโดย Thailand e-Business Center (TeC) ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้มีการพูดถึงสถิติที่น่าสนใจของการเติบโตอีคอมเมิร์ซไทย และหนึ่งในเทรนด์ที่สำคัญที่กำลังเกิดขึ้น คือ การไหลบ่าจากสินค้าจีนที่เข้ามาขายบนแพลตฟอร์ม 3 Marketplace เจ้าใหญ่อย่าง Lazada, Shopee และ JD Central
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และ CEO&Co-founder บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ เผยให้เห็นถึงข้อมูลของสินค้าใน 3 Marketplace ดังในประเทศไทย อย่าง Lazada, Shopee และ JD Central ในปลายปี 2562 ซึ่งพบว่ามีจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 174 ล้านชิ้น เติบโตขึ้นกว่า 2.4 เท่าจากปี 2561 ที่มีจำนวนสินค้า 74 ล้านชิ้น และเมื่อเจาะลึกลงไปในจำนวนนี้ มีถึง 80% หรือ 135 ล้านชิ้นที่เป็นสินค้าจีน จากผู้ค้า 8.1 หมื่นราย ขณะที่ 20% หรือ 39 ล้านชิ้น เป็นสินค้าจากพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยของไทยราว 1 ล้านราย
• 3 ปัจจัยสินค้าจีนทะลักเข้าไทย
“ ภายในหนึ่งปี มีสินค้าที่เข้ามาขายเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านชิ้น ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ เหมือนกับมีห้างแพลทินัม แฟชั่น มอลล์ เปิดใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก 100 แห่ง ซึ่งเป็นร้านที่เปิดอยู่บนอากาศในแพลตฟอร์ม Marketplace” ธนาวัฒน์ เล่า โดยสินค้าจากจีนที่เข้ามาตีตลาดมากที่สุด ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า แฟชั่นเครื่องแต่งกาย รองลงมาคืออุปกรณ์เสริมโทรศัพท์มือถือและแก็ดเจ็ต


3 ปัจจัยหลักสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง..การแข่งขันกันอย่างดุเดือดของ Marketplace เจ้าใหญ่ๆ ทั้ง Lazada และ Shopee ซึ่งต่างใช้กลยุทธ์ Product Selection แข่งกันที่ความหลากหลายของสินค้า เพื่อช่วงชิงโอกาสในการขาย ภาพที่เกิดขึ้นตามมาคือการระดมกองทัพสินค้าจีนจากพ่อค้าแม่ค้าหัวกะทิที่มีความพร้อม นำสินค้าขายสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น
สอง..นโยบายสนับสนุน Free Trade ของรัฐบาลไทย ผ่านการจัดตั้งเขตปลอดอากรกิจการอีคอมเมิร์ซในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) โดยสินค้าต่างประเทศที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียทั้งภาษีนำเข้าศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม ยิ่งไปกว่านั้นการเข้ามาตั้งคลังสินค้าในเขตปลอดภาษีฯดังกล่าวยังช่วยร่นระยะเวลาการจัดส่งสินค้าจากต่างประเทศให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
“ จากเดิมที่การสั่งซื้อสินค้าจากจีน ลูกค้าในไทยอาจต้องใช้เวลารอนาน 15 วัน หรือนานเป็นเดือน แต่ตอนนี้ ข้อจำกัดเหล่านั้นจะหมดไป เมื่ออาลีบาบายกคลังสินค้าเข้ามาตั้งไว้ที่เขตฟรีเทรดโซนในอีอีซี ทำให้สินค้าสามารถจัดส่งได้รวดเร็วทันใจ และอาจจะเร็วกว่าพ่อค้าแม่ค้าในไทยด้วยซ้ำ จากเทคโนโลยีและระบบกระจายสินค้าอัจฉริยะของอาลีบาบา”
สาม..ปัจจัยหนุนจากความต้องการผู้บริโภคที่ได้ประโยชน์ เพราะสามารถซื้อสินค้าจากจีนได้รวดเร็วและได้ราคาที่ถูก จึงเป็นปัจจัยเร่งให้สินค้าจีนไหลบ่าเข้าสู่ตลาดไทย
พ่อค้าแม่ค้าคนไทยซึ่งทำตัวเป็นเทรดเดอร์โดยการนำสินค้าจีนมาและขายต่อโดยไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงยากที่จะอยู่รอด แนวทางการปรับตัวอย่างแรกจึงต้องปรับตัวด้านสินค้า ผู้ประกอบการต้องตีโจทย์ให้ออกว่าสินค้าที่ขายจะสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างไร จะเลือกสินค้าประเภทไหนมาขายที่สามารถแข่งขันกับพ่อค้าแม่ค้าจีนได้
“ แน่นอนว่า ถ้าไปแข่งด้านราคาอย่างเดียว คงไม่สามารถสู้ได้ เพราะโรงงานจากจีนผลิตเพื่อป้อนสู่ตลาดโลก วอลุ่มและต้นทุนการผลิตจึงต่างจากโรงงานในไทยมหาศาล ดังนั้นจึงต้องตีโจทย์ว่ายังมีสินค้าอะไรที่พ่อค้าแม่ค้าคนจีนยังไม่เข้าใจความต้องการของคนไทย และเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคไม่ได้ตัดสินใจซื้อที่ราคาเพียงอย่างเดียว


ยกตัวอย่าง สินค้าที่คนไทยน่าจะทำได้ดี เช่น สินค้าที่ต้องการบริการหลังการขาย กรณีผู้บริโภคต้องการซักถามพูดคุย หรือกรณีสินค้ามีปัญหา รวมถึงสินค้าที่ผู้บริโภคคำนึงคุณภาพมาตรฐาน และความไว้วางใจ เช่น ปลั๊กไฟที่ผู้บริโภคคาดหวังในแง่ความปลอดภัยมากกว่าราคาที่ถูกที่สุด
2. การปรับตัวด้านบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะธุรกิจอีคอมเมิร์ซไม่ได้จบแค่การขายสินค้าอย่างเดียว แต่มีบริการอื่นๆที่ผู้บริโภคคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นความรวดเร็วในการสื่อสาร วิธีการชำระเงินที่หลากหลาย การจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วทันใจ ตัวอย่างเช่น JIB ผู้จำหน่ายสินค้าไอทีของไทยที่สร้างความแตกต่างด้วยบริการส่งสินค้าด่วนถึงบ้านภายใน 3 ชั่วโมง และให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
“ วันนี้ ต้องยอมรับว่า พ่อค้าแม่ค้าชาวจีนเก่งขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่การตอบคำถามลูกค้าไทยอาจจะใช้การแปลภาษาแบบโรบอท แต่เชื่อว่าในปีนี้ เราจะเริ่มเห็นพัฒนาการที่มากขึ้น เช่น การจ้างแอดมินที่เป็นคนไทยเพื่อสื่อสารกับลูกค้า”
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของธนาวัฒน์ ธุรกิจการนำเข้าสินค้าจากจีน ยังไม่ใช่ว่าจะหมดโอกาสเสียทีเดียว เพียงแต่ต้องสามารถคัดเลือกสินค้าจีนที่ดีมีคุณภาพ และตอบโจทย์พฤติกรรมความต้องการของคนไทย ในราคาที่ผู้บริโภคยินดีจ่าย และทำการตลาดได้อย่างตรงใจ
“ สิ่งสำคัญคือการเลือกสินค้าที่ใช่มาขาย และทำตลาดโดยมีช่องทางการขายที่หลากหลายเข้าถึงผู้บริโภค รวมทั้งต้องมีความสามารถในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ มีวิธีการตั้งราคาที่โดนใจ และบริการหลังการขายที่ดี


นอกจากนี้ จุดเด่นที่ผมมองว่าจะสามารถเข้ามาเสริมในแง่สินค้าและบริการได้ก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ยกตัวอย่างเช่น “บังฮาซัน”พ่อค้าออนไลน์ที่โด่งดังจากการขายอาหารทะเลตากแห้ง ขายดีเพราะมีลูกเล่นในการขายมัดใจลูกค้า ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นสินค้าทั่วไปที่ใครๆก็ขาย ตัวสินค้าไม่ต่างกันมากนัก แต่สร้างสรรค์วิธีการขายที่มีความคิดสร้างสรรค์กว่าคู่แข่งได้ สินค้านั้นๆก็ยังมีโอกาสที่จะแข่งขันได้” ธนาวัฒน์ชี้ถึงแนวทางการปรับตัวที่ต้องหาโอกาสและจุดขายของตัวเองให้เจอ